วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

72 ศิษย์เอกขงจื๊อ

ชั่วชีวิตของขงจื๊อมีลูกศิษย์ทั้งสิ้นกว่าสามพันคน ในจำนวนนี้มีลูกศิษย์เอก 72 คน
เอี๋ยนหุย (Yan Hui)
หมิ่นสุ่น (Min Sun)
หย่านเกิง (Ran Geng)
หย่านหยง (Ran Yong)
หย่านฉิว (Ran Qiu)
ตวนมู่ซื่อ (Duanmu Ci)
จ้งอิ๋ว (Zhong You)
จ่ายอวี๋ (Zai Yu)
เอี๋ยนเอี่ยน (Yan Yan)
ปู่ซาง (Pu Shang)
จวานซุนซือ (Zhuansun Shi)
เจิงชัน (Zeng Shen)
ต้านไถเมี่ยหมิง (Dantai Mieming)
มี่ปู้ฉี (Fu Buji)
เอี๋ยนจี๋ (Yan Zu)
หยวนเซี่ยน (Yuan Xian)
กงเหย่ฉาง (Gongye Chang)
หนานกงควา (Nangong Kuo)
กงซีอาย (Gongxi Ai)
เจิงเตี่ยน (Zeng Dian)
เอี๋ยนอู๋หยาว (Yan Wuyao)
สูจ้งหุ้ย (Shuzhung Hui)
ซางฉวี (Shang Zhu)
เกาไฉ (Gao Chai)
ชีเตียวคาย (Qidiao Kai)
กงป๋อเหลียว (Gongbo Liao)
ซือหม่าเกิง (Sima Geng)
ฝานซวี (Fan Xu)
โหย่วยั่ว (You Ruo)
กงซีฉื้อ (Gongxi Chi)
อูหม่าซือ (Wuma Shi)
เหลียงจาน (Liang Zhan)
เอี๋ยนซิ่ง (Yan Xing)
หย่านหยู (Ran Ru)
เฉาซวี่ (Cao Xu)
ป๋อเฉียน (Bo Qian)
กงซุนหลง (Gongsun Long)
ซีหยงเตี่ยน (Xi Yongdian)
หย่านจี้ (Ran Ji)
กงจู่จวี้จือ (Gongzu Gouzi)
ซือจือฉาง (Shi Zhichang)
ฉินจู่ (Qin Zu)
ซีเตียวตัว (Qidiao Chi)
เอี๋ยนเกา (Yan Gao)
ซีเตียวถูฝู้ (Qidiao Dufu)
หย่างซื่อชื่อ (Zeng Sichi)
ซางเจ๋อ (Shang Zhai)
สือจั้วสู่ (Shi Zuo)
เยิ่นปู้ฉี (Ren Buji)
โห้วชู่ (Hou Chu)
ฉินหย่าน (Qin Ran)
ฉินซาง (Qin Shang)
เซินต่าง (Shen Dang)
เอี๋ยนจือผู (Yan Zhipo)
หยงฉี (Yan Zhi)
เซี่ยนเฉิง (Xian Chang)
จั่วเหยินอิ่ง (Zuo Renying)
เจิ้งกั๋ว (Zhang Guo)
ฉินเฟย (Qin Fei)
เอี๋ยนขว้าย (Yan Kuai)
ปู้สูเฉิง (Bu Shusheng)
เยว่เขอ (Yue Ke)
เหลียนเจี๋ย (Lian Jie)
ตี๋เฮย (Di Hei)
ปานซวิ่น (Kui [al. Bang] Sun)
ขงจง (Kong Zhong)
กงซีเตี่ยน (Gongxi Dian)
จวี้อ้าย
ฉินเหลา
หลินฟ่าง (Lin Fang)
เฉิงค่าง (Chan Kang)
เซินเฉิง
ศาสนาที่ยังไม่ตาย

ศาสนาขงจื๊อ

ศาสนาขงจื๊อ
แนวคิด
1. ศาสนาขงจื๊อ เกิดที่ประเทศจีน เมื่อประมาณ 8 ปี ก่อนพุทธศักราช ศาสนานี้ตั้งชื่อตาม "ขงจื๊อ" ผู้เป็นศาสดา สมัยที่ขงจื๊อมีชีวิตอยู่ ไม่ถือว่าคำสอนของขงจื๊อเป็นศาสนาจนเมื่อขงจื๊อสิ้นชีวิตไปแล้ว ศิษย์และผู้เลื่อมใสในคำสอนพากันยกย่องสรรเสริญจนทางราชการประกาศยอมรับว่าเป็นศาสนา
2. คัมภีร์ของศาสนาขงจื๊อ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เป็นข้อเขียนของขงจื๊อเรียกว่า เก็ง หรือ กิงทั้ง 5 กับข้อเขียนที่ศิษย์ของขงจื๊อเรียบเรียงขึ้นในลักษณะเป็นประมวลคำกล่าวของขงจื๊อและแสดงหลักคำสอน เรียกว่า ซู หรือตำราทั้ง4
3. หลักคำสอนที่สำคัญของศาสนาขงจื๊อนั้นจะกล่าวโดยรวบยอดได้แก่หลักการถ้อยทีถ้อยอาศัย หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ขงจื๊อเห็นว่าชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และการเมือง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกออกจากกันไม่ได้ อุดมคติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและศาสนามีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ศีลธรรม โลหิตแห่งชีวิตคือความรัก กระดูกสันหลังของชีวิตคือความตาย การพัฒนาชีวิตต้องพัฒนาไปพร้อมกับคุณธรรมและความรัก ชีวิตจะรุ่งเรืองเมื่อคุณธรรมรุ่งเรือง ชีวิตจะขยายเมื่อความรักแผ่ขยาย
4. พิธีกรรมที่สำคัญ ศาสนาขงจื๊อมีพิธีกรรมที่สำคัญอยู่ 3 พิธีคือ พิธีบูชาขงจื๊อ พิธีบูชา ฟ้า ดิน พระอาทิตย์ พระจันทร์ และพิธีเคารพบูชาเทียน และวิญญาณของบรรพบุรุษ ศาสนาขงจื๊อมีจุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิต อันเป็นความสุขที่แท้จริงและนิรันดรคือ เทียนหรือสวรรค์ ผู้ปฏิบัติให้เข้าถึงสวรรค์ได้จะต้องอยู่ในคุณธรรมของศาสนาโดยมีจริยธรรมทางกายและทางใจอย่างครบถ้วนในตนเอง ชาวขงจื๊อเชื่อว่าชีวิตในโลกนี้มีครั้งเดียว จากนั้นก็จะไปอยู่โลกวิญญาณหรือสวรรค์ชั่วนิรันดร
5. ศาสนาขงจื๊อมีสัญลักษณ์ ได้แก่ รูปปั้น รูปหล่อ รูปเขียนของขงจื๊อ หยิน-หยางแผ่นป้ายจารึกนามขงจื๊อ หรือ รูปคนจีนแต่งตัวโบราณกำลังประสานมือแสดงคารวะต่อกัน
6. ศาสนาขงจื๊อ มีศาสนานิกประมาณ 300 ล้านคน ชาวจีนได้ยกย่องขงจื๊อให้เป็นนักปราชญ์อันดับ 1 ของจีน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้นักศึกษามองเห็นภาพรวมประเด็นที่เป็นสาระสำคัญทางศาสนาของศาสนาขงจื๊อได้อย่างสมบูรณ์
2. เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาและสามารถถ่ายทอดเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของศาสนา ประวัติศาสดา คัมภีร์สำคัญ
ในศาสนา หลักคำสอนที่สำคัญในศาสนา หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุดในศาสนาขงจื๊อได้อย่างถูกต้อง
3. เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาและสามารถถ่ายทอดเกี่ยวกับพิธีกรรมที่สำคัญทางศาสนา นิกายในศาสนา สัญลักษณ์ในศาสนา และฐานะในปัจจุบันของศาสนาขงจื๊อได้อย่างถูกต้อง
8.1 ประวัติความเป็นมา
ศาสนาขงจื๊อ เกิดเมื่อประมาณ 8 ปีก่อนพุทธศักราช โดยคิดตามปีเกิดของขงจื๊อแต่ความจริงสมัยที่ขงจื๊อยังมีชีวิตอยู่ ท่านไม่เคยประกาศตัวเป็นศาสดา มีแต่ประกาศว่าท่านเป็นนักศึกษาที่ใฝ่หาความรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งไม่เคยประกาศตั้งศาสนา แต่ที่ได้กลายมาเป็นศาสดาก็เพราะผู้อื่นตั้งให้แบบเดียวกับเล่าจื๊อ ขงจื๊อสิ้นชีพ เมื่อ พ.ศ. 64 หลังจากที่สิ้นชีพแล้วหลายร้อยปี ก็มีศิษยานุศิษย์ช่วยกันเผยแผ่คำสอนของขงจื๊อตลอดมา จนถึงสมัยเม่งจื๊อ(พ.ศ. 172-256) ศิษย์คนสำคัญได้เป็นกำลังหลัก ในการเผยแผ่คำสอนของขงจื๊อออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้ราชวงศ์ฮั่นเกิดความเลื่อมใส ได้ยกย่องขงจื๊อเป็นเทพเจ้าทั้งประกาศให้ถือคำสอนของขงจื๊อ1เป็นศาสนาประจำชาติ เป็นที่น่าสังเกตว่า ขงจื๊อได้รับยกย่องจากบ้านเมืองสูงขึ้นตามลำดับ ดังนี้คือ
พ.ศ. 348 จักรพรรดิจีนได้เสด็จไปทำพิธีเซ่นสังเวยที่หลุมฝังศพขงจื๊อ
พ.ศ. 544 มีพระราชโองการให้สถาปนาขงจื๊อเป็นขุนนางเทียมเท่าดยุกของอังกฤษ
พ.ศ. 632 ขงจื๊อได้รับสถาปนาเทียบเท่าระดับเอิร์ลของอังกฤษ
พ.ศ. 810 มีพระราชโองการให้จัดราชพิธีเซ่นสังเวยขงจื๊อปีละ 4 ครั้ง
พ.ศ. 1035 ขงจื๊อได้รับสถาปนาเป็นนักปราชญ์สูงสุดของจีน
พ.ศ. 1243 มีการอัญเชิญประติมากรรมขงจื๊อมาประดิษฐานไว้ในราชวิทยาลัยเคียงข้างกับพระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลาย
พ.ศ. 1611-1619 ขงจื๊อได้รับสถาปนาเทียบเท่าพระเจ้าจักรพรรดิ
พ.ศ. 2449 ขงจื๊อได้รับสถาปนาชั้นสูงสุดเทียบเท่าเทพเจ้าแห่งฟ้าดิน ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดตามความเชื่อของคนจีน
ศาสนาขงจื้อจะมีลักษณะเป็นปรัชญามากกว่าศาสนา เพราะศาสนาขงจื๊อจะว่าด้วยจริยศาสตร์ หลักประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ในชาตินี้เท่านั้น ทำอย่างไรตนและคนอื่นจึงจะมีความสุขความเจริญ ทำอย่างไรสังคมจึงจะดีมีความสุข และทำอย่างไรประเทศชาติตลอดถึงโลกจึงจะมีความสงบสุข ศาสนาขงจื๊อไม่ได้ว่าด้วยคุณธรรมชั้นสูง ความลี้ลับของจิตวิญญาณ และโลกหน้าอย่างที่เรียกว่าอภิปรัชญาเลย แต่ก็ยังจัดเป็นศาสนา ทั้งนี้ก็เพราะมีองค์ประกอบอื่นๆ เข้าข่ายเป็นศาสนาได้คือ 1) มีศาสดาหรือผู้ตั้งศาสนา 2) มีคัมภีร์ทางศาสนา 3) มีนักบวช หรือผู้สืบต่อศาสนา 4) มีสถานที่อยู่ของนักบวชหรือผู้สืบต่อศาสนา 5) มีปูชนียวัตถุหรือปูชนียสถานทางศาสนาตลอดทั้งมีพิธีกรรมทางศาสนา และเนื่องจากศาสนาขงจื๊อว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์ในชาตินี้เท่านั้น ศาสนาขงจื๊อจึงได้ชื่อว่า ศาสนาแห่งมนุษย์นิยม
ศาสนาขงจื๊อให้ความสำคัญแก่มนุษย์มาก ว่ามนุษย์เป็นผู้บันดาลความเจริญหรือความเสื่อมตลอดจน ถึงความเป็นไปต่างๆ ให้แก่โลก ดังนั้นมนุษย์จึงเป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นไปในโลกทุกอย่าง ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องสร้างคนให้เป็นคนดี จะได้นำแต่สิ่งที่ดีมาสู่ชีวิตและโลก ปัญหามีอยู่ว่าจะทำคนให้เป็นคนดีได้อย่างไร เรื่องนี้ขงจื๊อตอบไว้ว่าไม่ต้องไปหาที่ไหน บรรพบุรุษได้สร้างไว้แล้วนั่นก็คือคุณธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิทยาการต่างๆ
ขงจื๊อได้ทุ่มเทเวลาไปในการศึกษาค้นคว้าวิทยาการต่างๆ ที่บรรพบุรุษสร้างสมไว้ พยายามฟื้นฟู เรื่องโบราณอย่างจริงจังได้รวบรวมจารีตประเพณีโบราณต่างๆ เช่น การบูชาฟ้าดิน การบูชาพระอาทิตย์ พระจันทร์ และการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เป็นต้น เพื่อจะนำมาใช้สร้างคนให้เป็นคนดี ด้วยเหตุนี้ศาสนาขงจื๊อจึงมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องคุณธรรมและวิทยาการต่างๆ ในสมัยโบราณ เพียงแต่ขงจื๊อนำมาตีความหมายขยายความเสียใหม่ และใช้หลักธรรมการเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นแกนกลางสำหรับไว้ให้ทุกคนปฏิบัติต่อกัน ตามฐานะหน้าที่ของตน เพราะฉะนั้นคำสอนในการดำเนินชีวิตทั้งหมดของขงจื๊อ จึงรวมอยู่ในภาษาจีนคำเดียว คือ "สู่" หมายถึง อะไรที่ตนเองไม่ปรารถนา ก็อย่าทำอย่างนั้นกับผู้อื่น
ศาสนาขงจื๊อ เคยเจริญรุ่งเรืองในประเทศจีนเคียงคู่กับศาสนาเต๋า และศาสนาพุทธแต่เนื่องจากคำสอนในศาสนาขงจื้อ ไม่มีอภิปรัชญา ดังนั้นคนจีนเมื่อต้องการคำสอนที่ลึกซึ้ง หรือต้องการรู้ความเป็นไปในโลกหน้าจึงต้องหันไปนับถือศาสนาเต๋า และศาสนาพุทธอีกด้วยส่วนศาสนิกของศาสนาพุทธก็เช่นกัน ต่างก็ให้ความสำคัญต่อศาสนาขงจื้อ เพราะฉะนั้นคนจีนทั่วไปจึงนับถือทั้ง 3 ศาสนา คือ พุทธ เต๋า และขงจื้อ รวมกันไป และต่างก็นำคำสอนของอีกฝ่ายหนึ่งมาผสมผสานกันเข้ากัน จนยากที่จะแยกจากกันได้ ดังมีคำพูดในภาษาจีนว่า ซัมเก่าแปลว่า คำสั่งสอนทั้ง 3 ศาสนา ก็คือความเป็นไปของทั้ง 3 ศาสนา เป็นอย่างนี้ตลอดมาจนประเทศจีนเปลี่ยนการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ จึงถึงจุดวิกฤติของทุกศาสนา โดยเฉพาะศาสนาขงจื๊อ ถูกทำลายหนักเพราะถูกเพ่งเล็งว่า สอนให้คนติดอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีและศักดินา อันเป็นเรื่องที่ขัดกับลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง ศาสนิกของศาสนาขงจื๊อจึงลำบากมาก ต้องคอยหลบซ่อนไม่แสดงตัว แล้วปฏิเสธว่าไม่ได้นับถือศาสนาขงจื๊อเพื่อความปลอดภัยแก่ตัว เหตุการณ์เป็นอย่างนี้จนชาวจีนบางกลุ่มไม่อาจทนได้ จึงหนีไปอยู่ในประเทศจีนคณะชาติ เกาะไต้หวัน จนปัจจุบันศูนย์กลางของศาสนาขงจื้ออยู่ที่ประเทศไต้หวัน
8.2 ประวัติศาสดา
ศาสนาขงจื๊อมีผู้ก่อกำเนิดในฐานะเป็นศาสดา นั่นก็คือ ขงจื๊อ ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Confucius อันเป็นภาษาละติน อ่านว่า คอนฟูซิอุส ตรงกับคำว่า กุงฟูจื่อ ในภาษาจีนกลาง และขงฮูจื้อ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า "ขง" เป็นชื่อสกุล คือ ตระกูลขง ส่วนคำว่า "จื๊อ" แปลว่าครู อาจารย์ หรือนักปราชญ์ เมื่อรวมกันเข้าก็คงแปลได้ความว่า ตระกูลครูอาจารย์ หรือตระกูล นักปราชญ์
8.2.1 ชาติกำเนิดและปฐมวัย
ขงจื๊อเกิดเมื่อประมาณ 551 ปีก่อนคริสตศักราช หรือ 8 ปีก่อนพุทธศักราชในตระกูลขง (แซ่ขง) เป็นตระกูลทหารยากจนในแคว้นลู่ ปัจจุบันคือจังหวัดฉู่ฝูในมณฑลซานตุง ทางภาคเหนือของประเทศจีน บิดาเป็นทหารชื่อจูเหลียงโฮ หรือชกเหลียงยิด เป็นคนมีกำลังแข็งแรงเกินคนธรรมดา มารดาชื่อจินไจ ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อขงจื๊อเกิด จูเหลียงโฮผู้บิดามีอายุ 70 ปี และมารดาก็คลอดขงจื๊อในถ้ำที่ภูเขาแห่งหนึ่ง การที่บิดาของขงจื๊อมีอายุแก่มากเช่นนั้น กล่าวกันว่า จูเหลียงโฮ เคยแต่งงาน มีบุตรหญิง และบุตรชายคนหนึ่งเป็นลูกภรรยาลับและเป็นเด็กพิการอีกด้วย จึงไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้เกิดกับภรรยาที่แต่งงานกัน ประเพณีถือว่าจะต้องมีบุตรชายที่เกิดกับภรรยาที่แต่งงานเท่านั้น เพื่อเซ่นสรวงดวงวิญญาณของบิดา เมื่อบิดาตายไปแล้วดวงวิญญาณจึงจะได้รับความผาสุก ดังนั้นการที่ไม่มีบุตรชายที่เกิดจากภรรยาที่แต่งงานอย่างเป็นทางการ ไว้เซ่นสรวงดวงวิญญาณ ทำให้เกิดความวิตกและกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมา จึงทำให้จูเหลียงโฮขบคิดว่าจะต้องมีบุตรชายให้ได้ เพื่อเซ่นสรวงดวงวิญญาณของตน จูเหลียงโฮจึงตัดสินใจแต่งงานอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุได้ 70 ปี กับหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งมีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น และเมื่อแต่งงานใหม่ก็ได้บุตรชายสมความตั้งใจ คือ ขงจื๊อ พอขงจื๊ออายุได้ 3 ขวบ ก็เหมือนกับคนมีกรรมที่ต้องกำพร้าบิดา เพราะบิดาตายเมื่อขงจื๊ออายุได้ 3 ขวบเท่านั้น มารดาผู้เป็นแม่หม้ายสาวซึ่งมีอายุเพียง 20 ปี ก็ได้พยายามต่อสู้ความยากจนเลี้ยงดูบุตรของตนให้เติบใหญ่ด้วยความเหนื่อยยาก จนกระทั่งขงจื๊อโตพอที่จะช่วยตนเองและช่วยมารดาทำมาหาเลี้ยงชีพ ขงจื้อต้องทำงานหนักต้องเลี้ยงมารดาตอบแทนบุญคุณ ขงจื๊อมีนิสัยใฝ่การศึกษามาก แต่กว่าจะได้เริ่มเรียนวิชาความรู้อย่างจริงจังก็เมื่ออายุ 15 ปี เขา เรียนหนังสืออยู่ 3 ปี เมื่ออายุ 18 ปีก็ได้เข้าทำงานในกรมฉางหลวงของแคว้นลู่ เฝ้าสัตว์เลี้ยงของหลวง เนื่องจากขงจื๊อเป็นคนฉลาด ขยันขันแข็ง ซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน เข้ากับผู้ใหญ่ได้ทุกชั้น จึงได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ แม้แต่เจ้าแคว้นลู่ ก็โปรดปราน ทำให้ขงจื๊อก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
8.2.2 ชีวิตสมรส
เมื่อขงจื๊ออายุได้ 19 ปี ก็ได้ตกลงปลงใจแต่งงานกับหญิงตระกูลดีคนหนึ่ง ในวันแต่งงานขงจื๊อได้รับเกียรติอย่างสูงจากเจ้าแคว้นลู่ ที่ส่งปลาสองตัวมาให้เป็นของขวัญ ขงจื๊อจึงถือเป็นศุภนิมิตว่า ถ้ามีลูกจะตั้งชื่อว่า โปยู้ แปลว่า ปลางาม และก็ได้เป็นจริงดังตั้งใจ กล่าวคือ เมื่อแต่งงานแล้วไม่นานก็ได้บุตรชายคนหนึ่งและก็ได้ตั้งชื่อให้ว่า โปยู้ สมปรารถนา แต่ก็เป็นคราวเคราะห์ร้ายของขงจื๊ออีกเหมือนกัน ปรากฏว่าใกล้ๆ เวลาที่แต่งงานนั้นมารดาของขงจื๊อก็ถึงแก่กรรมลง 3 ปีต่อมาชีวิตสมรสไม่ค่อยจะราบรื่นเท่าไรนัก เพราะขงจื๊อมีความรู้สึกโน้มน้าวไปในทางธรรมมาก มุ่งงานมุ่งศึกษามาก ชอบคิดและคิดด้วยตนเองมาก ขงจื๊อค่อนข้างเป็น คนเคราะห์ร้ายเรื่องครอบครัว เพราะลูกไม่ได้เป็นปราชญ์ตามเชื้อสายพ่อ และไม่ค่อยปรากฏเรื่องของลูกและภรรยาในชีวประวัติมากนัก
8.2.3 ชีวิตมัชฌิมวัย
ตั้งแต่ขงจื๊อ1ได้เข้ารับราชการตั้งแต่อายุ 18 ปี และก็ได้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานมาตามลำดับจนได้รับความไว้วางใจจากเจ้าแคว้นลู่แต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการฉางหลวง (ธนาคารข้าว) มีหน้าที่ตรวจเก็บภาษีข้าวเปลือกที่ชาวนาจะนำขึ้นฉางหลวงของเจ้าเมืองลู่ ระหว่างรับราชการอยู่ปรากฏว่าเป็นคนรอบรู้ในจารีตประเพณีดีกว่าผู้ใด ผู้ใดจะประกอบพิธีอันใดขงจื๊อเป็นผู้ทำให้ทั้งหมด ในที่สุดจึงกลายเป็นพิธีกร เป็นอาจารย์ของคนทั้งหลายโดยปริยาย ส่วนที่สำคัญ ชีวิตราชการทำให้ขงจื๊อได้เห็นความเหลวแหลก ความไม่ยุติธรรมของข้าราชการ ข้อนี้เป็นแรงดันให้ขงจื๊อคิดแก้ไขความเหลวแหลกทั้งหลายในแผ่นดิน
ในขณะทขงจื๊อมีความตั้งใจจะแก้ไขความประพฤติของข้าราชการ และใคร่จะสั่งสอนคนให้เป็นพลเมืองดีเพื่อช่วยเหลือบ้านเมือง พอดีเกิดความผันผวนขึ้นในบ้านเมือง เจ้าผู้ครองนครลู่ต้องหลบภัยการเมืองออกจากแคว้นนั้นไป ขงจื๊อหลบภัยตามไปด้วย มีข้าราชการ ผู้ซื่อสัตย์หมู่หนึ่งขอเป็นศิษย์ติดตาม เพราะเลื่อมใสอยากจะทำราชการอยู่ใกล้กับขงจื๊อ
ชีวิตในตอนหลังระหกระเหินมาก ขงจื๊อเข้ารับราชการอยู่กับผู้ครองแคว้นอีกแห่งหนึ่ง คือ ผู้ปกครองแคว้นจี มีความสนใจในเรื่องการบ้านการเมือง ต้องการจะให้รัฐบาลปกครองคนด้วยความผาสุก ขงจื๊อวางหลักการปกครองไว้ว่า "วิธีจะมีรัฐบาลที่ดี ผู้ปกครองควรต้องเป็น ผู้ปกครองจริงๆ เสนาบดีต้องทำหน้าที่เสนาบดี พ่อต้องทำหน้าที่ของพ่อ ลูกต้องทำหน้าที่ของลูก" ประชากรเป็นส่วนสำคัญที่สุดของรัฐ สวรรค์ย่อมเห็นตรงกับมหาชนเสมอ สวรรค์ฟังเหมือนกับมหาชนฟัง ฉะนั้นผู้ปกครองรัฐหรือประเทศจะต้องเอาชนะใจประชาชนเสียก่อนแล้วจึงจะได้อาณาจักร หากไม่เอาชนะใจของประชาชนแล้วอาณาจักรก็จะหลุดลอยไปเท่านั้น "ประโยชน์ยิ่งใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลใดๆ ควรจะได้ ไม่ใช่มาจากการเก็บภาษีอากรอันเป็นที่เดือดร้อนของประชาชน แต่ประโยชน์ต้องมาจากคนทั้งหลายที่มีความประพฤติดีมีความเชื่อว่ารัฐบาลปกครองด้วยดี" หลักการปกครองหรือหลักรัฐศาสตร์ของขงจื๊อนี้ ในตอนแรกก็ไม่ค่อยได้รับความเอาใจใส่มากนัก แต่ขงจื๊อมีความพยายามสอนคนอยู่เสมอ ไม่เคยทอดทิ้งหน้าที่ครูสอนเรื่อยไป จนมีศิษย์ในเวลานั้นประมาณ 3,000 คนและศิษย์ส่วนมากมาจากตระกูลยากจน ไม่ใช่เฉพาะสอนหลักรัฐศาสตร์เท่านั้น ที่เน้นมากก็คือ ศีลธรรม ต้องการที่จะจรรโลงประเทศให้มีความเจริญด้วยศีลธรรม เป็นการแก้ไขปัญหาสังคม เช่น ได้วางหลักสายสัมพันธ์ 5 ประการให้คนรู้จักหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกัน จนถึงกับได้ตั้งโรงเรียนสอนจริยธรรมขึ้น ขงจื๊อจึงกลายเป็นอาจารย์คนแรกที่สั่งสอนวิชาศีลธรรมวัฒนธรรมและปรัชญาอย่างจริงจังในสมัยนั้น ศิษย์ของขงจื๊อก็ทวีมากขึ้นโดยลำดับ ตัวอย่างหลักปรัชญาที่ขงจื๊อสอน เช่น "ถ้าท่านยังไม่รู้ความเกิดจะไปรู้ความตายได้อย่างไร " ถ้าท่านไม่อยากให้คนอื่นทำอันตรายแก่ท่าน ท่านก็อย่าไปทำอันตรายแก่คนอื่นๆ ยิ่งวันผ่านไปความพยายามของขงจื๊อก็ไม่เคยย่อหย่อน และศิษย์ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีชื่อเสียงขจรขจายไปไกล ในที่สุดบ้านเมืองเห็นความดีจึงแต่งตั้งขงจื๊อให้มีหน้าที่ตรวจราชการฝ่ายยุติธรรมตามหัวเมืองต่างๆ ปรากฏว่าขงจื๊อยิ่งมีโอกาสได้ศึกษาความเป็นไปในชีวิตของคนและการบ้านการเมืองในที่ต่างๆ เมื่อไปตรวจราชการเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยเคลื่อนที่ แห่งใดมีการปกครองดีขงจื๊อก็ส่งเสริม แห่งใดมีการปกครองไม่ยุติธรรมขงจื๊อก็ช่วยเหลือแก้ไขการปกครองของแคว้นนั้นๆ เรื่อยไป ได้พยายามท่องเที่ยวสั่งสอนคนอยู่อย่างนี้เป็นเวลากว่า 10 ปี จึงกลับเข้าไปอยู่ในแคว้นลู่ตามเดิม ทางแคว้นลู่ขอร้องให้ขงจื๊อเข้ารับราชการอีก แต่ขงจื๊อปฏิเสธ เพราะต้องการจะใช้เวลาสั่งสอนคนและในบั้นปลายชีวิตต้องใช้เวลารวบรวมคำสอนของตนขึ้นเป็นตำรา และปรับปรุงแก้ไขตำราเก่าๆ ที่เคยสอนแต่งไว้ให้ดีขึ้น
8.2.4 บั้นปลายชีวิต
เมื่ออายุ 69 ปี ขงจื๊อได้รวบรวมคำสอนของตนขึ้นเป็นตำรา มีวิชาปรัชญา วิชากาพย์กลอน วิทยาศาสตร์ วิชายิงธนู ประวัติศาสตร์ และวิชาดนตรี ด้วยวิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่ขงจื๊อเคยสอนมาทั้งหมด ขงจื๊อไม่ส่งเสริมการกระทำใดๆ ที่ฟุ่มเฟือย ศิษย์ที่ขงจื๊อพอใจมากที่สุดคือ ศิษย์ที่มีวิชาหนังสือดีและยิงธนูดี
ขงจื๊อถึงแก่กรรมด้วยอารมณ์ไม่สู้ราบรื่นนัก เมื่ออายุ 73 ปี ในปี 479 ก่อนคริสตศักราชก่อนสิ้นชีพขงจื๊อพูดว่า "คนที่น่ากลัวที่สุดคือ เสนาบดีผู้ทรยศ และลูกที่ไม่เชื่อฟัง และเมื่อใกล้จะหมดลมหายใจได้กล่าวคำพูดไว้เป็นคติแห่งชีวิตว่า "ขุนเขาจะต้องสลายไปเสาหลักอันแข็งแกร่งก็จะหักสะบั้นลงไป ชีวิตของนักปราชญ์ก็ร่วงโรยไปเหมือนรุกขชาติ ในอาณาจักรนี้ไม่มีใครเชื่อฟังเรา เวลาของเรามาถึงแล้ว"
หลังจากที่ขงจื๊อล่วงลับไปแล้ว บรรดาผู้เลื่อมใสได้พากันรวบรวมคำสอนและหนังสือที่ขงจื๊อแต่งไว้เป็นหลักวิชาทางรัฐศาสตร์และศาสนา กลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และมีค่าสูง นอกจากนี้ศิษยานุศิษย์ของขงจื๊อได้ช่วยกันเผยแผ่หลักจริยธรรมของขงจื๊อเป็นการใหญ่ พร้อมทั้งเผยแพร่คุณงามความดีของขงจื๊อด้วย จนในที่สุดต่อมาขงจื๊อก็ได้รับสมญานามว่าเป็นศาสดาองค์หนึ่ง และคำสอนของขงจื๊อก็เลื่อนฐานะเป็นศาสนาขึ้นมา ดังปรากฏประจักษ์อยู่ทุกวันนี้
8.3 คัมภีร์ในศาสนา
คัมภีร์หลักคำสอนของขงจื๊อ1แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เป็นข้อเขียนของขงจื๊อโดยตรง เรียกว่า เก็ง หรือ กิงทั้ง 5 หมายถึงวรรณคดีชั้นสูงทั้ง 5 กับข้อเขียนที่ศิษย์ของขงจื๊อเรียบเรียงขึ้นในลักษณะเป็นประมวลคำกล่าวของขงจื๊อและแสดงหลักคำสอนเรียกว่า ซู หรือ ตำราทั้ง 4 ดังต่อไปนี้
8.3.1 เก็งทั้ง 5 มีดังต่อไปนี้
1. อี้จิง : คัมภีร์แห่งความเปลี่ยนแปลง มีลักษณะเป็นการให้ความรู้ทางจักรวาลวิทยา แสดงความเป็นมาของโลกและอภิปรัชญาตามทัศนะของชาวจีนโบราณ คัมภีร์นี้เป็นการรวบรวมตำราเก่าแก่และบทนิพนธ์ของ พระจักรพรรดิเวนวั่ง ปฐมราชวงศ์โจว และโจวคุง แต่ขงจื๊อเป็นผู้เขียนอรรถาธิบายในบั้นปลายแห่งชีวิตของเขา
2. ซูจิง : คัมภีร์ประวัติศาสตร์ กล่าวถึงเหตุการณ์และรัฐศาสตร์ย้อนหลังไปตั้งแต่ราชวงศ์ถัง ถึงรัชสมัยพระจักรพรรดิมุกุง แห่งราชวงศ์จิ้น คัมภีร์นี้มีความสำคัญต่อหลักคำสอนของขงจื๊อ เพราะเป็นบันทึกเอกสารทางประวัติศาสตร์และข้อเขียนในสมัยโบราณและได้แสดงปรัชญาทางศีลธรรมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นรากฐานแห่งทัศนะทางศีลธรรมของขงจื๊อ
3. ซือจิง : คัมภีร์คีตคาถา เป็นการรวบรวมบทกวีเก่าแก่ของจีน มีบทกวีจำนวน 305 บท คัมภีร์นี้แบ่งออกเป็น 4 ภาค ดังนี้
1. เพลงพื้นบ้านพื้นเมือง
2. ยาเล็ก เป็นบทกวีบันทึกพระราชกรณียกิจของพระจักรพรรดิ
3. ยาใหญ่ เป็นบทกวีบันทึกพระราชกรณียกิจอันเด่นและสำคัญ
4. สุ เป็นบทกวียอพระเกียรติหรือเพลงสรรเสริญพระบารมี
4. หลี่จี้ : คัมภีร์จารีตพิธี กล่าวถึงจารีตพิธีเกี่ยวกับชีวิต 2 ประการดังนี้
1. พิธีการในการติดต่อกันทางสังคม พิธีเกี่ยวกับการรับรองบุตร การแต่งงาน การไว้ทุกข์ และการเซ่นไหว้
2. สถาบันทางสังคมและทางประเทศชาติ
5. ชุน-ชิว : คัมภีร์บันทึกเหตุการณ์ฤดูวสันต์และฤดูสารท เป็นการบันทึกเหตุการณ์ในเมืองลู่ ย้ำถึงชีวิตที่ประกอบด้วยศีลธรรมของนักปกครอง และการปกครองโลกโดยศีลธรรมของฟ้า คัมภีร์นี้เป็นประมวลจริยธรรมทางรัฐศาสตร์ที่ดีมาก แบ่งออกเป็น 2 ภาค ดังนี้ 1. ภาคที่ 1 กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นรายปีในเมืองลู่ระหว่างปีที่ 722-481 ก่อนคริสตศักราช
2. ภาคที่ 2 กล่าวถึงข้อคิดเห็นทั่วไป จอจุยเหม็ง ศิษย์ผู้ใกล้ชิดของขงจื๊อได้รวบรวมไว้เมื่อประมาณปีที่ 400 ก่อนคริสตศักราช
คัมภีร์ทั้ง 5 นี้ เดิมเป็นข้อเขียนหรือหนังสือธรรมดา แต่ต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณคดีชั้นสูง และเป็นหลักคำสอนด้วย
8.3.2 ซู ทั้ง 4 มีดังนี้
คำว่า "ซู" แปลว่า หนังสือหรือตำรา การใช้คำนี้ก็เพื่อทำให้คำว่า กิง หรือเกง มีน้ำหนักลดลงเล็กน้อย กล่าวคือ คำว่า กิง หรือเกง มีความหมายเท่ากับคำว่า สูตรหรือคัมภีร์ ซึ่งกิงหรือเกงเป็นงานที่ขงจื๊อได้เรียบเรียงขึ้นเอง ส่วนซูนั้น เป็นงานที่หลานและศิษย์ของขงจื๊อเรียบเรียงรวบรวมขึ้น ซูทั้ง 4 มีดังนี้
1. ต้าสุย หมายถึง การศึกษาที่สำคัญยิ่ง หรือการศึกษาที่ทำให้เป็นมหาบุรุษเป็นบทความสั้นๆ เกี่ยวกับศีลธรรม เช่น การปกครองรัฐขึ้นอยู่กับการจัดครอบครัวให้เป็นระเบียบ
2. จุงยุง หมายถึง ทางสายกลาง หนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดเห็นทางศีลธรรมอันเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับความรู้จักประมาณตน ความสมดุล และความเหมาะสม ข้อคิดเห็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เรื่องความจริงใจ หรือความจริง เช่น คนที่มีความจริงใจต่อคนอื่นและมีความจริงใจต่อตนเองเท่านั้นจึงเป็นมนุษย์ที่แท้จริง
3. ลุนยู หมายถึง ประมวลคำสอนของขงจื๊อซึ่งศิษย์ทั้งหลายของขงจื๊อได้รวบรวมไว้ เช่น เมื่อเดินอยู่ด้วยกันสามคน ข้าพเจ้ามักมีครูเสมอ ข้าพเจ้าสามารถเลือกคุณสมบัติดีๆ ของคนคนหนึ่งเอามาประพฤติเลียนแบบได้ และเลือกเอาคุณสมบัติเลวๆ ของอีกคนหนึ่ง มาแล้วเอามาแก้ไขตัวข้าพเจ้าเองได้
4. เม่งจื๊อ หมายถึง คัมภีร์เม่งจื๊อ เม่งจื๊อผู้เป็นศิษย์ของขงจื๊อได้รวบรวมไว้ เช่น ความรู้สึกสงสารเป็นจุดเริ่มต้นของมนุษยธรรม ความรู้สึกละอายเป็นจุดเริ่มต้นของความยุติธรรม ความรู้สึกอ่อนโยนเป็นจุดเริ่มของความมีมารยาทอันดีงาม ส่วนความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา
8.4 หลักคำสอนที่สำคัญ
หลักธรรมของศาสนาขงจื๊อแตกต่างจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะศาสนาพราหมณ์-ฮินดูสอนมุ่งสู่ภพหน้าอันเป็นอนาคต แต่ศาสนาขงจื๊อสอนมุ่งอดีตความดีของบรรพบุรุษคำนึงถึงความเป็นจริงในปัจจุบันโดยถือแบบอย่างอันดีงามของคน ในอดีตศาสนาขงจื๊อมุ่งหน้าในด้านการปกครองบ้านเมืองเพื่อให้ราษฎรร่มเย็นเป็นสุข ให้ผู้มีอำนาจในการปกครองใช้เมตตาจิตต่อราษฎร อบรมสั่งสอนให้อยู่ในศีลธรรม ผู้น้อยต้องเคารพและซื่อตรงต่อผู้ใหญ่สามีภรรยาต้องซื่อสัตย์ต่อกัน ขงจื๊อเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาบริสุทธิ์เหมือนน้ำ ซึ่งบริสุทธิ์เมื่อแรกเกิดแต่ต้นน้ำ แต่ราคีที่จะแปดเปื้อนชีวิตย่อมมีทุกหนทุกแห่ง มนุษย์จึงหันเหไปสู่ความชั่วได้ง่ายเพราะปฏิบัติได้ง่ายกว่าความดี ดังนั้น ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจจึงควรทำตัวอย่างที่ดีเห็นอกเห็นใจผู้ใต้ปกครอง ผู้อยู่ใต้ปกครองต้องซื่อสัตย์ต่อผู้ปกครอง บ้านเมืองจึงจะเป็นสุข
คำสอนของขงจื๊อ1เป็นเรื่องการสอนให้ประพฤติตามระเบียบวินัยและจรรยามารยาทอัน ดีงามต่อกันมา ศาสนาขงจื๊อสอนให้ปฏิบัติเหมือนกฎทองของคริสต์ศาสนา แต่ได้ใช้มาก่อนคริสต์ศาสนา คือ "จงปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนดังที่เราต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา" เนื่องจากคำสอนของขงจื๊อที่ให้เคารพบรรพบุรุษจึงเกิดมีขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีต่างๆ ที่ชาวจีนยึดเป็นหลักในชีวิตประจำวัน ในประวัติศาสตร์ไม่มีใครมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อความคิดและชีวิตของประชาชนชาวจีนเท่าขงจื๊อ ศาสนาขงจื๊อจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งสังคมและความคิดของชาวจีนอย่างแยกไม่ออก
หลักคำสอนของขงจื๊อประกอบด้วยคำสอนมูลฐาน 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. เยน ความเมตตากรุณา
2. หยี ความยุติธรรม
3. หลี พิธีกรรม
4. ฉี สติปัญญา คำสั่งสอนของขงจื๊อดำเนินตามหลักสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1. ศรัทธา ขงจื้อสอนคนให้มีความเชื่อว่า ถ้าคนมีความนับถือซึ่งกันและกันแล้วจะไม่มีอาชญากรรม และสังคมมนุษย์จะดำเนินไปอย่างผาสุก ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงควรศึกษาให้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมชาติและธรรมดาของมนุษย์ ให้เข้าถึงความดีและความสมบูรณ์อย่างไม่มีที่ติของมวลมนุษย์
2. ความเป็นผู้คงแก่เรียน การที่บุคคลจะเข้าใจซึ่งกันและกันต้องอาศัยการศึกษาเล่าเรียนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควรปลูกฝังให้แก่คนทุกคน ถ้าบุคคลได้รับการศึกษาดีแล้วมิใช่แต่จะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมด้วยความราบรื่นเท่านั้น แต่จะได้เป็นแบบอย่างอันดีต่อคนทั้งปวงอีกด้วย
3. การบำเพ็ญคุณประโยชน์ ยึดหลักมนุษยธรรมให้มีเมตตาจิตต่อกัน ให้มีความเข้าใจอันดีและความนับถือกัน ให้ปฏิบัติตนตามหลัก ซึ่งกันและกัน
4. การสร้างลักษณะนิสัยและทัศนคติที่ดีงาม เป็นสิ่งควรปลูกฝังให้มีอยู่ในตัวบุคคล เพื่อเป็นรากฐานของการเป็นพลเมืองดี ด้วยหลักข้อนี้ ขงจื๊อจึงได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง บุตรต้องเคารพบิดามารดา ภรรยาต้องเคารพสามี พี่และน้องต้องมีความรักและนับถือและเมตตากรุณาต่อกันด้วย การที่ราษฎรจะเชื่อฟังคำสั่งของรัฐบาลและการที่รัฐบาลจะปกครองราษฎรด้วยความร่มเย็นเป็นสุขนั้น ต้องเนื่องมาจากการปลูกฝังความรู้สึกนี้ให้มีในครอบครัวก่อน คือ ผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องคุ้มครองและให้ความยุติธรรมแก่ผู้น้อย ผลจากคำสั่งสอนข้อนี้เองศิษย์ทั้งหลายของขงจื๊อจึงได้แยกออกมาให้เป็นหลักสำคัญเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ข้อ คือ บุตรต้องอยู่ในโอวาทของบิดามารดา และความจงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิ
5. ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณี เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้บุคคลประพฤติดีจึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยการศึกษาเล่าเรียนให้รู้ถึงขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีโบราณ ซึ่งบรรพบุรุษได้สร้างไว้ โดยเห็นว่าเป็นสิ่งดีงามแล้วเป็นมรดกตกทอดสืบต่อกันมา การศึกษาวรรณคดีและการศึกษาประวัติศาสตร์ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการถ่ายทอดสืบมรดกจาก บรรพบุรุษ ขงจื๊อเน้นว่า
ถ้ารัฐบาลใดต้องการปกครองให้ได้ดีแล้วต้องคำนึงถึงประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ในอดีตเป็นเครื่องสอนและชี้แนวทางให้
อนึ่ง ขงจื๊อได้กล่าวว่าดนตรีเป็นเครื่องทำให้จิตใจอ่อนโยน ในขณะที่ประเพณีรัดรึงเราได้ก็เฉพาะร่างกายภายนอกเท่านั้น แต่ความซาบซึ้งในดนตรีนั้นจะเกิดขึ้นจากความรู้สึกภายใน ดนตรีชนิดต่างๆ ในท้องถิ่นหรือประเทศต่างๆ ย่อมแสดงถึงจิตใจและเป็นสัญลักษณ์ของขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีที่ต่างกันด้วย
หลักคำสอนของขงจื๊อกำหนดมาตรฐานของสังคมเพื่อให้สังคมดำเนินไปตามระเบียบคำสอนขงจื๊ออยู่ในระดับศีลธรรม สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตได้โดยตรงกับจิตใจของชาวจีนซึ่งไม่ชอบเพ้อฝันมากนัก แต่ชอบนำความคิดและความเชื่อมาปฏิบัติให้เกิดผลในชีวิตหลักคำสอนของขงจื๊อมีส่วนช่วยสร้างสรรค์จิตใจของชาวจีนและมีอิทธิพลมากต่ออารยธรรมจีนความเชื่อ ความคิด และระบบปรัชญาบางสาขา และมีส่วนช่วยสร้างสรรค์วรรณกรรมและวรรณคดีเป็นอย่างมาก
จีนมีความเจริญทางศีลธรรมมานาน ขงจื๊อมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตและความคิดของประชาชนชาวจีนอย่างมาก เพราะขงจื๊อเป็นครูและเป็นผู้กล่อมเกลาจิตใจของประชาชนชาวจีน คำสอนของขงจื๊อเกี่ยวกับการปกครองและจริยธรรม ปรัชญาด้านต่างๆ สรุปสาระได้ดังนี้
1. ปรัชญาการเมือง
รัฐบาล คือ ศูนย์กลางของการปกครอง การตั้งรัฐบาลเป็นผลของความคิดพิจารณาโดยถี่ถ้วน ขงจื๊อได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของรัฐบาล 2 ประการดังนี้
1.1 อำนวยประโยชน์แก่ประชาชน
1.2 การสร้างกฎต่างๆ รัฐบาลจะดีได้เพราะสังคมมีขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีที่ดี ดังนั้น รัฐบาลที่ดีจึงควรยึดหลัก 3 ประการ ดังนี้
1) อาหารเพียงพอสำหรับราษฎร
2) มีกำลังทหารพอสมควร
3) มีความเชื่อมั่นในประชาชน
2. ปรัชญาการปกครอง
ธรรมดาผู้ปกครองถ้าบำเพ็ญตนให้มีสัมมาคารวะและข่มตนเองได้แล้ว ประชาชนในปกครองจะพลอยมีคุณธรรมนั้นไปด้วย ถ้าผู้ปกครองรักความเที่ยงธรรมและรู้หน้าที่ของตนแล้ว ประชาชนในปกครองจะไม่กล้าละเมิดข้อกำหนดกฎหมายได้ ถ้าผู้ปกครองรักในความอ่อนโยน เห็นอกเห็นใจกันและเชื่อถือกันแล้ว ประชาชนในปกครองคงจะต้องประพฤติเช่นนั้นตามไปด้วย
เมื่อผู้ปกครองตั้งตนให้เที่ยงตรงแล้ว ประชาชนในบังคับบัญชาย่อมทำตามหน้าที่โดยไม่ต้องขอร้อง แต่เมื่อผู้ปกครองไม่ตั้งตนให้เที่ยงตรงแล้ว แม้จะขอร้องสักเท่าใดประชาชนในบังคับบัญชาก็หาเชื่อฟังไม่
รัฐบาลที่ดีคือ รัฐบาลที่ทำให้ผู้อยู่ในความคุ้มครองเป็นสุขและเป็นที่พอใจของประชาชนที่อยู่ต่างด้าวไกลออกไป ถ้าผู้ปกครองนิยมการข่มตนเองอยู่เป็นเกณฑ์ ประชาชนก็จะว่านอนสอนง่ายตามคำบังคับบัญชาของผู้ปกครองนั้น
ถ้ารัฐบาลจำเป็นต้องสละสิ่งใดสิ่งหนึ่งในการปกครองแล้ว สิ่งแรกที่สละได้คือ ทหารสิ่งต่อมาคืออาหาร เนื่องจากมีเหตุผลว่ามนุษย์หนีความตายไม่พ้น รัฐบาลจึงไม่สามารถสูญเสียความมั่นใจของประชาชนได้
ผู้มีอำนาจแม้เอาไม้ทองหลางมาทำรั้ว คนอื่นก็กลัวเกรงและไม่กล้าล่วงล้ำ ถ้าให้คนอยู่ในอำนาจต้องทำขึงขัง อย่าทำเหลาะแหละ บังคับการให้ถูก คนทั้งปวงจึงจะเกรงกลัว
3. ปรัชญาด้านการศึกษา
เรียนแต่ไม่คิด ก็เป็นการเสียเปล่า คิดแต่ไม่เรียน ก็เป็นอันตราย
คนที่มีความรู้มาก มีกิริยาวาจาสมกับความรู้ย่อมดูงาม เปรียบเหมือนเขียนรูปภาพระบายด้วยลายทอง แต่ถ้าทำไม่สมกับความรู้ก็เหมือนเขียนรูปภาพไม่มีสีระบาย
เป็นนักปราชญ์แม้รู้มากก็จริง แต่สิ่งใดที่รู้แล้วไม่ต้องถาม สิ่งใดที่ยังไม่รู้แม้มาตรว่านิดหน่อยก็ควรต้องถาม คำสั่งสอนที่ครูให้แก่ท่านนั้น เมื่อรู้จงบอกว่ารู้ เมื่อไม่รู้จงบอกว่าไม่รู้ ต้องอย่าอวดรู้ต่อครู เล่าเรียนไปข้างหน้าจะรู้ง่าย
เรียนหนังสือถ้าไม่หมั่นตรึกตรอง เรียนไปแต่ปากก็เหมือนหนึ่งไม่ได้เรียน แต่ถ้าเป็นคนเอาแต่คิดไม่ได้เรียนก็มักวนเวียนอยู่ด้วยความสงสัย อุตส่าห์เล่าเรียนไปเถิดสติปัญญาจะเกิดเพราะเรียน อาจคิดการงานทั้งปวงให้สำเร็จได้ ผู้เรียนรู้ได้จริงแล้วที่จะทำความชั่วนั้นมีน้อย เพราะผู้ไม่เรียนรู้จริงอาจทำความชั่วได้ด้วยความโง่เขลา
เมื่อรักเรียนรู้ในหนังสือขนบธรรมเนียมทั้งปวงพึงอุตสาหะเรียนเสมอ ถ้าขยันหมั่นเพียรแล้วไฉนจะไม่รู้ และเพียรเล่าเรียนมาแต่ถิ่นฐานบ้านไกลไฉนจะไม่สนุก หนังสือที่เล่าเรียนไว้แล้วควรหมั่นตรวจตราดูแลให้ชำนิชำนาญจะได้อธิบายกว้างขวางออกไปทุกๆ ครั้ง
คนที่มีกำลังแต่ไม่มีปัญญา แม้จะขันสู้กับใครๆ ก็เหมือนเอามือเปล่าไปตีเสือหรือไม่มีเรือใบข้ามแม่น้ำ
คนเราเมื่อแรกเกิดมานั้น ความคิดยังหยาบก่อน ต่อเมื่อได้เรียนรู้ดูคำสั่งสอนแล้ว จึงค่อยดีขึ้นโดยลำดับ เปรียบเหมือนไม้กระดานแรกเลื่อยใหม่และศิลาแรกต่อยออกมายังไม่เกลี้ยงก่อน ต้องไสกบและขัดสีจึงเกลี้ยงเกลาขึ้นได้
4. ปรัชญาด้านเศรษฐกิจ
เมื่อยากจน แต่รู้จักประมาณตนไม่เที่ยวประจบประแจง อุตส่าห์หาทรัพย์ไปตามสติกำลังของตน เมื่อมั่งมีก็ควรเอ็นดูคนทั้งปวง ตั้งจิตคิดอนุเคราะห์คนทุกถ้วนหน้า อนึ่งแม้เมื่อยากจนก็ควรทำใจให้แช่มชื่น ไม่หดหู่ท้อแท้อ่อนแอ หาได้น้อยก็กินตามน้อย หาได้มากก็กินตามมาก เมื่อมั่งมีแล้วเร่งเรียนรู้ดูจารีตประเพณี
5. ปรัชญาด้านการวางตน
เป็นขุนนางควรตั้งตนอยู่ในความซื่อสัตย์ ใครดีก็ควรยกย่อง ใครชั่วก็ควรข่มขี่กล่าวสั่งสอน จงอย่าเห็นแก่ลาภซึ่งกลับเอาคนดีเป็นคนชั่วเอาคนชั่วเป็นคนดี ทำได้อย่างนี้ปวงชนย่อมนับถือ
เมื่อจะพูดถึงสิ่งใด จงพูดด้วยความซื่อสัตย์ให้คนทั้งปวงนับถือเชื่อฟังได้ ถ้าได้รับธุระของเขาแล้วต้องทำให้สำเร็จดังวาจา และกิริยาให้ซื่อตรงจึงจะเป็นที่นับถือของเขา ถ้าคบกันเป็นเพื่อนแล้วก็อย่าหลอกลวงกัน จึงจะคบกันมั่นคงและยืดยาว
8.5 หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุด


ศาสนาขงจื๊อ มีความเชื่อและจุดหมายสูงสุดไม่เด่นชัด คือเพียงแต่อนุโลมให้ทำตามความเชื่อที่บรรพบุรุษเชื่อกันมา เช่น เชื่อเรื่องผีสางเทวดา และพยายามทำความดี เมื่อตายแล้วจะได้ไปบังเกิดในสวรรค์ เป็นต้น แต่ขงจื๊อก็ไม่ได้แสดงไว้อย่างชัดเจน ขงจื๊อเน้นแต่เรื่องมนุษย์และโลกเป็นสำคัญ กล่าวคือ จุดหมายสำคัญของขงจื๊อก็คือ ต้องการให้คน สังคม ประเทศชาติและโลกสงบสุข ขงจื้อต้องการให้คนในโลกนี้ไม่แบ่งชั้นวรรณะ ไม่แบ่งพวก ไม่แบ่งประเทศ แต่ต้องการให้มีประเทศเดียว คือประเทศมนุษย์ และมีชาติเดียวคือชาติมนุษย์ หากเป็นได้ดังกล่าวทุกคนก็จะเป็นพี่น้องกัน มีความปรารถนาดีต่อกัน ช่วยเหลือกัน โลกก็จะสงบร่มเย็นโดยแท้ เพราะฉะนั้นความสงบสุขในโลกนี้จึงเป็นยอดปรารถนาและจุดหมายสูงสุดของขงจื๊อ
ศาสนาขงจื๊อ มีอิทธิพลต่อชาวจีนเป็นอย่างมาก งานนิพนธ์ของขงจื๊อเป็นวรรณกรรมชั้นสูงและเป็นหลักสูตรในการศึกษาตามสถาบันต่างๆ อีกทั้งเป็นวิชาสำหรับสอบไล่ของทางราชการอีกด้วย อิทธิพลคำสอนของขงจื๊อ ทำให้ชาวจีนมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนหลายอย่าง เช่น
1. ชาวจีนให้ความสำคัญในเรื่องครอบครัวมาก ถือว่าครอบครัวเป็นรากฐานของสังคม ชาวจีนจึงพยายามสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น ให้เป็นครอบครัวใหญ่ ประกอบด้วยคนหลายรุ่น ทั้งปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน เหลน ชาวจีนให้ความสำคัญต่อญาติมาก คำในภาษาจีนก็บอกลำดับญาติไว้อย่างชัดเจน ว่าใครมีความสัมพันธ์กันอย่างไร มาจากสายไหน สืบสายมาจากบิดาหรือมารดา ดุจคำว่าน้าและอาในภาษาไทยฉันนั้น
2. ชาวจีนให้เกียรติต่อผู้สูงอายุ ทั้งใช้สรรพนามให้เหมาะสมกับวัย เรียก พี่ ป้า น้า อา เป็นต้น แม้ต่อคนที่ไม่ใช่ญาติ คล้ายธรรมเนียมไทย คนจีนมีลูกหลานแล้ว มักจะไว้หนวดเพื่อแสดงว่าตัวแก่แล้ว
3. ชาวจีนให้ความสำคัญต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วจะต้องดูแลสถานที่ฝังศพของ บรรพบุรุษไว้ให้ดี ตลอดทั้งเซ่นไหว้อยู่เสมอ
4. ชาวจีนนิยมยกย่องครูบาอาจารย์ แต่ไม่นิยมยกย่องทหาร ชาวจีนให้ความสำคัญต่อผู้ใช้ความรู้มากกว่าผู้ใช้กำลัง ตามคำสอนของขงจื๊อ
5. ชาวจีนไม่ชอบมีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล แต่จะพยายามปรองดองกันให้ได้
8.6 สถานพิธีกรรมที่ทำ

วัดของศาสนาขงจื๊อก็คือศาลเจ้าของคนจีนนั่นเอง แต่เดิมมาเป็นที่กราบไหว้ฟ้าดินลมฝนแม่น้ำภูเขาซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้าที่ประจำในธรรมชาติมนุษย์จะต้องให้ความเคารพและเซ่นไหว้เพื่อแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อ ธรรมชาติต่อมาความเชื่อในศาสนาขงจื๊อได้ถูกนำมาประสานกลมกลืนกับศาสนาเต๋าและลัทธิไสยศาสตร์เดิม ๆ ที่เคยนับถือกันมาก่อนจากความเชื่อที่เน้นในคุณค่าของธรรมชาติอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามแบบศาสนาขงจื๊อได้กลายเป็นความ เชื่อแบบลัทธิวิญญาณนิยม (ลัทธิที่ถือว่าชีวิตเกิดขึ้นเพราะวิญญาณ) ที่อิงอยู่กับไสยศาสตร์เทพเจ้าในศาลเจ้ามีจำนวนมากขึ้นและมีอารมณ์ความรู้สึกแบบมนุษย์ที่สามารถให้คุณและให้โทษซึ่งมนุษย์จะต้องเซ่นไหว้เอาใจใส่อยู่เสมอดังนั้นวัดที่สร้างขึ้นมา ตามแบบของศาสนาขงจื๊อแท้ๆนั้นแทบจะไม่มี แต่เท่าที่ปรากฏและเป็นที่รู้จักกันดีคือวัดเหวินเหมียว (เหมียวเหวิน) ในเมืองไทเปที่ไต้หวันลักษณะของวัดสร้างตามแบบศิลปะจีนที่นิยมตกแต่งตัวอาคารด้วยปูนปั้นที่ มีลวดลายวิจิตรพิสดารรอบวัดถูกกั้นด้วยกำแพงสูงทางเข้าส่วนมากอยู่ทางทิศใต้มีประตู 3 ประตูหลังคาวัดมีความยาวมากจนสามารถยื่นมาคลุมประตูทั้งสามที่อยู่หน้าวัดส่วนบานประตูนั้นนิยมเขียนภาพสีสดใสงดงาม เป็นรูปเทพยดาอารักษ์ทำหน้าที่ปกป้องวิญญาณชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในวัดห้องโถงใหญ่ของวัดจะตั้งแผ่นป้ายของปรมาจารย์ขงจื๊อและศิษย์เอกที่นักปราชญ์เป็น 4 คนคือง้วนอวงเจิงจื่อจื่อซือซึ่งเป็น ทั้งศิษย์เอกและหลานรักและเม่งจื๊อซึ่งไม่ใช่ศิษย์โดยตรง แต่มีส่วนในการเผยแผ่คำสอนของขงจื๊อ
แผ่นป้ายของขงจื๊อนั้นจะตั้งกลางห้องโดยหันหน้าไปทางทิศใต้ซึ่งเป็นทางเข้าวัดเพื่อทำให้คนที่ศรัทธามาวัดนั้นรู้สึกเหมือนกับว่าท่านยังมีชีวิตอยู่และได้มีโอกาสกราบไหว้ในทันทีที่ได้เหยียบย่างเข้าไป ในวัดสำหรับกำแพงทางด้านฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกจะมีแผ่นป้ายของสานุศิษย์อื่น ๆ อีก 11 คนและของท่านจูฮี (hsi Chu) ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสำคัญมากในลัทธิขงจื๊อใหม่ดังนั้นสภาพของวัดโดยทั่วๆไป น่าจะเป็นอนุสรณ์สถานมากกว่าเป็นวัดซึ่งเป็นที่อยู่ของเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ต่อมาในภายหลังเมื่อพระพุทธศาสนาและศาสนาเต๋าได้รับความนิยมจากประชาชนวัดของศาสนาขงจื๊อได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปและรับเอาวัฒนธรรมของศาสนาเหล่านี้มาประสมประสาน ด้วยทำให้มีการติดตั้งภาพเขียนทางศาสนาแทนการตั้งแผ่นป้ายซึ่งเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณ
8.7 พิธีกรรมที่สำคัญ
ขงจื๊อได้เขียนข้อสนับสนุนประเพณีโบราณไว้เป็นอันมาก รวมทั้งประเพณีในการบูชาฟ้าดิน และบูชาบรรพบุรุษด้วย ศาสนาขงจื๊อจึงรับเอาประเพณีทั้ง 3 ซึ่งมีมาแต่ก่อนหลายพันปีเข้าเป็นหลักการใหญ่ เป็นอันว่าประเพณีต่างๆ ที่สืบทอดมาแต่โบราณ ขงจื๊อก็รวบรวมเรียบเรียงไว้ และเมื่อขงจื๊อซึ่งเป็นศาสดาได้สิ้นไปแล้ว ศาสนาขงจื๊อก็อยู่ในฐานะศาสนาของรัฐ พิธีกรรมในการบูชาจึงแบ่งออกเป็น 3 อย่าง ดังนี้
1. พิธีบูชาขงจื๊อ


2. พิธีบูชาฟ้า ดิน พระอาทิตย์ และพระจันทร์
3. พิธีเคารพบูชาเทียน และวิญญาณของบรรพบุรุษ
1. พิธีบูชาขงจื๊อ เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 195 ก่อน ค.ศ. (พ.ศ. 348) พระจักรพรรดิจีนได้นำสัตว์ที่ฆ่าแล้วไปทำพิธีบูชาที่หลุมฝังศพขงจื๊อ และมีคำสั่งเป็นทางการให้มีการเซ่นไหว้ขงจื๊อเป็นประจำ และให้สร้างศาลของขงจื๊อขึ้นทั่วทุกหัวเมืองที่สำคัญ และทำพิธีเซ่นไหว้ และยังกำหนดให้วันเกิดของขงจื๊อ คือวันที่ 27 สิงหาคม เป็นวันหยุดราชการประจำปีของจีนและต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 28 กันยายน
2. พิธีบูชาฟ้า ดิน พระอาทิตย์ และพระจันทร์ ในปีหนึ่ง จะมีรัฐพิธี 4 ครั้ง ดังนี้
2.1 พิธีบูชาฟ้า กระทำกันประมาณวันที่ 22 ธันวาคม พระจักรพรรดิจะทรงเป็นประธานในพิธี พิธีจะมีการแสดงดนตรี การแห่โคมไฟ มีเครื่องเซ่นไหว้ เช่น อาหาร ผ้า ไหม เหล้า เป็นต้น เสร็จแล้วจะเผาเครื่องเซ่นไหว้หมด แท่นบูชาอยู่ทางทิศใต้ของกรุงปักกิ่ง ทำด้วยหินอ่อนสีขาว มีระเบียงลดหลั่นเป็นชั้น 3 ชั้น
2.2 พิธีบูชาดิน เป็นการบูชาธรรมชาติหรือเทพประจำธรรมชาติ ผู้ประกอบพิธีเป็นขุนนาง หรือข้าราชการ กระทำเป็นงานประจำปี ประมาณวันที่ 21 หรือ 22 มิถุนายน ที่เรียกว่า ครีษมายัน ณ แท่นบูชา อยู่ทางทิศเหนือกรุงปักกิ่ง สถานที่บูชามีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมมีน้ำล้อมรอบ
2.3 พิธีบูชาพระอาทิตย์ กระทำเป็นทางการประจำปี ณ ที่บูชาทางประตูด้านตะวันออกของกรุงปักกิ่ง ประมาณวันที่ 21 มีนาคม ที่เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต คือวันที่กลางคืนและกลางวันเท่ากัน ในฤดูใบไม้ผลิ
2.4 พิธีบูชาพระจันทร์ กระทำเป็นทางการประจำปี ณ ที่บูชาทางด้านตะวันตกของกรุงปักกิ่ง ประมาณวันที่ 22 หรือ 23 กันยายน ที่เรียกว่า วันศารทวิษุวัต คือวันที่กลางวันและกลางคืนเท่ากัน ในฤดูใบไม้ร่วง
3. พิธีเคารพบูชา "เทียน" และวิญญาณของบรรพบุรุษ
ชาวจีนได้ค้นพบความมีอยู่ของเทพเจ้า "เทียน" และได้เชื่อกันโดยทั่วไปว่าเทพเจ้า "เทียน" นั้นทรงประทับอยู่บนสวรรค์อย่างแน่นอนเหตุนี้พวกเขาจึงพากันทำพิธีเคารพบูชา "เทียน" ผู้เป็นเจ้าแห่งเทพทั้งปวงผู้คุ้มครองโลก ทรงเป็นวิญญาณแห่งดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ฝน ไฟ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ภูเขา และลำน้ำ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ให้การเคารพบูชาวิญญาณของบรรพบุรุษของตน รวมทั้งบูชาดวงวิญญาณแห่งผู้บริสุทธิ์และวีรชนด้วย โดยเฉพาะวิญญาณแห่งองค์จักรพรรดิถือว่าเป็นดวงวิญญาณแห่งผู้บริสุทธิ์ ธรรมเนียมดังกล่าวนี้โดยรวมแล้วเรียกว่า การบูชาวิญญาณแห่งบรรพบุรุษ นับเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้วที่ชาวจีนได้ปฏิบัติกันมา พวกเขาจะพากันร้องเพลงเป่าขลุ่ยและประกอบพิธีบูชาดวงวิญญาณดังกล่าวตลอดจนวิญญาณแห่งธรรมชาติอื่นๆ ด้วย ซึ่งศาสนาของขงจื๊อก็ให้การสนับสนุน จึงดูเหมือนว่า เป็นพิธีกรรมของศาสนาและเป็นการแสดงออกซึ่งจริยธรรมอันดีงามประการหนึ่ง
8.8 นิกายในศาสนา
นักการศาสนาบางกลุ่มกล่าวว่า ศาสนาขงจื๊อไม่มีนิกาย อย่างไรก็ตาม แม้ศาสนาขงจื๊อจะไม่มีนิกายโดยตรง แต่มีหนังสือหลายเล่มกล่าวถึงผู้นับถือศาสนาขงจื๊อพวกใหม่ หรือที่เรียกว่า Neo - Confucianism ในสมัยราชวงศ์ซุง (ค.ศ. 960-1279 ตรงกับ พ.ศ. 1503-1822) ซึ่งรับเอาความคิดในเรื่อง หยิน - หยาง รวมทั้งการเซ่นไหว้ของประชาชนตามประเพณีโบราณเข้าไว้ในหลักการด้วย
คำว่า หยิน - หยาง นั้นเป็นระบบของโลก ระหว่างความมืดกับความสว่าง ความชั่วกับความดี อันเป็นของคู่กัน คือ หยิน เป็นสิ่งแทนความมืดและความชั่ว ส่วนหยางเป็นสิ่งแทนความสว่างและความดี
เมื่อมีคำว่า ผู้นับถือศาสนาขงจื๊อใหม่ ก็ทำให้คิดถึงพวกที่นับถือศาสนาขงจื๊อเก่าซึ่งการปฏิบัติก็แตกต่างกันออกไป แต่ถ้าจะจัดพวกที่นับถือศาสนาขงจื๊อใหม่เป็นนิกายใหม่อีกนิกายหนึ่งก็ไม่ค่อยจะชัดเจนนัก
8.9 สัญลักษณ์ของศาสนา
1. สัญลักษณ์ศาสนาขงจื๊อโดยตรง ได้แก่ รูปปั้น รูปหล่อ หรือรูปเขียนของขงจื๊อเองซึ่งประดิษฐานอยู่ในศาล
2. สัญลักษณ์อย่างอื่นคือ ภาพวงกลม แบ่งเป็น 2 ส่วน เท่ากันด้วยเส้นเว้า ที่เรียกในภาษาจีนกลางว่า หยิน-หยาง
3. ถ้าไม่มีสัญลักษณ์ตามข้อ 1-2 เขาก็ใช้แผ่นป้ายจารึกนามขงจื๊อ ในรูปการบูชาบรรพบุรุษที่ชาวจีนนิยมทำกัน คือ การจารึกชื่อผู้ตายในแผ่นป้าย แล้วตั้งไว้เพื่อบูชาเซ่นไหว้
4. สัญลักษณ์อีกอย่าง คือ รูปคนจีนแต่งตัวโบราณกำลังประสานมือแสดงคารวะต่อกัน
8.10 ฐานะของศาสนาในปัจจุบัน ศาสนาขงจื๊อ เคยเจริญรุ่งเรืองในประเทศจีน มีศาสนิกประมาณ 300 ล้านคน ชาวจีนได้ยกย่องขงจื๊อ1 เป็นนักปราชญ์อันดับ 1 ของจีน คำว่าอันดับ 1 ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ขงจื๊อเป็นนักปราชญ์คนแรก หากหมายถึงความเป็นหนึ่งในความวิเศษ ชาวจีนได้ยกย่องขงจื๊อตลอดมา จนประเทศจีนเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อ พ.ศ. 2492 ศาสนา ทั้งหลายจึงถูกทำลาย เพราะคอมมิวนิสต์ถือว่าศาสนาเป็นยาเสพติด มอมเมาประชาชนให้ลุ่มหลง และยิ่งมาถึง พ.ศ. 2509 เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม ศาสนาทั้งหลายถูกทำลายเพิ่มขึ้นไปอีกโดยเฉพาะศาสนาขงจื๊อถูกทำลายหนักเป็นพิเศษ เพราะถูกเพ่งเล็งอีกต่างหากว่าสอนให้คน ติดอยู่กับระบอบศักดินาและขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าๆ ทำให้ศาสนิกของศาสนาขงจื๊อไม่กล้าแสดงตัว จนชาวจีนบางกลุ่มทนไม่ได้ จึงหนีไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน ประเทศจีนคณะชาติ

ทางการประเทศจีนคณะชาติได้ให้การต้อนรับ และยกย่องศาสนาขงจื๊อเป็นอย่างดี เช่น เมื่อ พ.ศ. 2495 รัฐบาลจีนคณะชาติได้ประกาศเปลี่ยนวันครูแห่งชาติ จากวันที่ 27 สิงหาคม มาใช้วันเกิด ของขงจื๊อ คือ วันที่ 28 กันยายนแทน ทางราชการจะหยุดงาน 1 วัน เพื่อให้เกียรติต่อขงจื๊อผู้เป็นศาสดาของศาสนาขงจื๊อ อีกทั้งได้ให้เงินเดือนแก่ผู้สืบสกุลของศาสนาขงจื๊ออีกด้วยเพราะฉะนั้นศูนย์กลางของศาสนาขงจื๊อในปัจจุบัน จึงอยู่ที่ประเทศจีนไต้หวัน ส่วนความเป็นไปของศาสนาขงจื๊อบนแผ่นดินใหญ่หรือประเทศจีน ก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับ เมื่เหมาเจ๋อตุงประธานพรรคคอมมิวนิสต์ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2520 ทำให้รัฐบาลจีนหันมาติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น จึงผ่อนคลายการบีบคั้นทางศาสนาลง
ศาสนิกของแต่ละศาสนามีเสรีภาพในการประกอบศาสนกิจมากขึ้น และยิ่งในปัจจุบันสถานการณ์ของศาสนาต่างๆ ดีขึ้นตามลำดับ เมื่อระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ได้ล่มสลายในประเทศรัสเซียและประเทศอื่นๆ เป็นเหตุให้ประเทศจีนต้องเปลี่ยนท่าทีใหม่ เปิดโอกาสให้พลเมืองมีเสรีภาพในการนับถือศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ พวกนักบวชสามารถกลับไปอยู่วัดได้ ประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมต่างๆ ได้ และ พ.ศ.2522 มหาวิทยาลัยนานกิงก็ได้เป็นศูนย์กลางของการศึกษาศาสนาต่างๆ ในประเทศจีนอีกด้วย

ศาสนาที่ยังไม่ตาย

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ศาสนาเต๋า

ศาสนาเต๋า
แนวคิด
1. ศาสนาเต๋า เกิดในประเทศจีน ประมาณ 61 ปี ก่อนพุทธศักราช เริ่มแรกนั้นยังไม่เป็นศาสนา เป็นเพียงปรัชญาเท่านั้น ไม่มีพิธีกรรม ไม่มีข้อปฏิบัติอะไรเป็นพิเศษมากไปกว่าข้อคิด และคำสอน ต่อมาภายหลังจึงได้พัฒนาขึ้นเป็นศาสนาที่มีองค์ประกอบ ตามลักษณะของศาสนา ศาสนาเต๋าเป็นอเทวนิยม ศาสดาของศาสนาเต๋า คือ เล่าจื๊อ
2. คัมภีร์ของศาสนาเต๋า คือ คัมภีร์เต้าเตกเกง หลักคำสอนที่สำคัญในศาสนาเต๋า มีดังนี้ สมบัติอันเป็นรัตนะ 3 ประการ ชีวิตจะดีได้ต้องกลมกลืนกับธรรมชาติ ลักษณะคนดีและชีวิตที่มีสุขสูงสุด ความบริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ 3 ประการ และปรัชญาในการดำเนินชีวิต 4 ประการ
3. ศาสนาเต๋ามีพิธีกรรมที่สำคัญดังนี้ พิธีบริโภคอาหารเจ พิธีปราบผีปีศาจ พิธีไล่ผีร้าย พิธีส่งวิญาณผู้ตาย และพิธีกราบไหว้บูชาวิญญาณของบรรพบุรุษ จุดหมายปลายทางสูงสุดของชีวิตของศาสนาเต๋า อันเป็นความสุขที่แท้จริง และนิรันดร์ก็คือ เต๋า การที่จะเข้าถึงเต๋า หรือรวมอยู่กับเต๋าเป็นเอกภาพเดียวกันได้ จะต้องบำเพ็ญตนให้ดำเนินไปตามทางของธรรมชาติ ให้มีความ สงบระงับ ครองชีวิตในทางที่กลมกลืนกับธรรมชาติสามารถทำใจให้สงบตามทางของธรรมชาติ(เต๋า) ชาวเต๋าเชื่อว่าชีวิตในโลกนี้มีครั้งเดียว จากนั้นไปสู่โลกวิญญาณชั่วนิรันดร
4. ศาสนาเต๋ามีอยู่หลายนิกาย แต่ว่ามีนิกายใหญ่ๆ 2 นิกาย คือนิกายเช็ง-อิ และนิกายชวน-เชน ศาสนาเต๋ามีสัญลักษณ์เป็นรูปเล่าจื้อขี่กระบือ และสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งคือรูปหยิน-หยาง
5. ฐานะปัจจุบันของศาสนา ปัจจุบันนี้ศาสนิกของศาสนาเต๋ามีประมาณ 183 ล้านคน กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ที่ชาวจีนอาศัยอยู่มาก เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ อยู่ในประเทศจีน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้นักศึกษาได้มองเห็นภาพรวมประเด็นที่เป็นสาระสำคัญทางศาสนาของศาสนาเต๋าได้อย่างสมบูรณ์
2. เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาและสามารถถ่ายทอดเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของศาสนา ประวัติศาสดา คัมภีร์สำคัญในศาสนา หลักคำสอนที่สำคัญในศาสนา หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุดในศาสนาของศาสนาเต๋าได้อย่างถูกต้อง
3. เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาและถ่ายทอดเกี่ยวกับพิธีกรรมที่สำคัญทางศาสนา นิกายในศาสนา สัญลักษณ์ของศาสนา และฐานะของศาสนาในปัจจุบันของศาสนาเต๋าได้อย่างถูกต้อง
ประวัติความเป็นมา

ศาสนาเต๋า เป็นศาสนาที่แปลก คือดั้งเดิมไม่ได้เป็นศาสนา และผู้ที่ถือกันว่าเป็นศาสดาก็ไม่มีส่วนรู้เห็นเลย กล่าวคือเล่าจื๊อได้รับยกย่องให้เป็นศาสดา แต่สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ เล่าจื๊อไม่เคยประกาศตัวเป็นศาสดา และไม่เคยประกาศตั้งศาสนาเต๋า ส่วนที่กลายมาเป็นศาสนาเต๋าก็เพราะความดีและความวิเศษแห่งความรู้ในปรัชญาเต๋าของเล่าจื๊อเป็นเหตุ ทำให้คนยกย่องท่านเป็นศาสดาภายหลังจากที่ท่านสิ้นชีพแล้วหลายร้อยปี เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อเล่าจื๊อสิ้นชีพแล้วได้มีสานุศิษย์ผู้เลื่อมใสในคำสอนเป็นจำนวนมาก โดยมีจังจื้อหรือจวงจื้อเป็นหัวหน้าใหญ่ได้ช่วยกันประกาศคำสอนของเล่าจื๊ออย่างแพร่หลาย จนเป็นเหตุให้ทางบ้านเมืองได้เห็นความสำคัญของเล่าจื๊อมากขึ้นจนได้ยกย่องให้สูงขึ้นตามลำดับอย่างเช่น
พ.ศ. 699 จักรพรรดิหวัน (Hwan) ได้ทรงให้จัดทำพิธีเซ่นไหว้เล่าจื๊อเป็นครั้งแรก
พ.ศ. 1193-1227 เล่าจื๊อได้รับสถาปนาเทียบเท่าพระเจ้าจักรพรรดิ ทั้งให้ถือข้อเขียนทั้งหลายของเล่าจื๊อเป็นข้อสอบไล่ของทางราชการอีกด้วย
ส่วนที่เต๋ากลายมาเป็นศาสนาเนื่องจากในสมัยราชวงศ์ฮั่น (ราว พ.ศ. 337-763) มีนักพรตรูปหนึ่งชื่อ เตีย เต๋า เล้ง ได้ประกาศตนว่าสำเร็จทิพยภาวะสามารถติดต่อกับเทพเจ้าได้ จึงสถาปนาศาสนาเต๋าขึ้น ณ สำนักภูเขาเหาะเม่งซัวในมณฑลเสฉวน โดยยกเล่าจื๊อเป็นศาสดา และใช้คัมภีร์เต้า เตก เกง1 ซึ่งเป็นผลงานของเล่าจื๊อ เป็นคัมภีร์ของศาสนาเต๋า ส่วนเตีย เต๋า เล้งก็ได้แต่งคัมภีร์สอนศาสนาเต๋าอีกหลายเล่ม แต่ละเล่มจะหนักไปในทางฤทธิ์เดชเวทมนตร์ต่างๆ ตลอดถึงพิธีกรรมขลังๆ เพื่อความสัมฤทธิ์ผลของเวทมนตร์ เช่นมีการปรุงยาอายุวัฒนะกินแล้วเป็นอมตะ หรือเวทมนต์สำหรับเหาะเหินเดินอากาศได้คล้ายเทวดา เป็นต้น
เพราะฉะนั้นศาสนาเต๋าจึงมีลักษณะ 2 อย่าง คือถ้าเป็นแบบปรัชญาเต๋าของเล่าจื๊อก็เป็นธรรมชาตินิยม เรียกว่า เต๋าเจีย แต่ถ้าเป็นอย่างคำสอนของเตียเต๋าเล้ง และสังฆราชถัดๆ มาก็เป็นแบบไสยศาสตร์หรือรหัสนิยม (Mysticism) อย่างเช่น จางเต้าหลิง หรือจางหลิง ผู้ได้รับสถาปนาเป็นสังฆราชองค์แรกของศาสนาเต๋า ในราวปี พ.ศ. 577 ก็มีดาบศักดิ์สิทธิ์เชื่อกันว่าดาบของท่านสามารถฆ่าพวกปีศาจแม้อยู่ไกลถึง 1,000 ไมล์ได้ เป็นต้น ศาสนาเต๋าที่มีลักษณะอย่างนี้เรียกกันว่า เต๋า เจียว แต่ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวเฉพาะศาสนาเต๋าในแบบของเล่าจื๊อเป็นสำคัญ
ศาสนาเต๋าหลังจากเป็นศาสนาแล้ว ก็เจริญบ้างเสื่อมบ้าง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางบ้านเมืองเป็นเหตุคือ สมัยใดที่พระเจ้าจักรพรรดิเลื่อมใส ศาสนาเต๋าก็รุ่งเรือง แต่ถ้าตรงกันข้ามก็ตกต่ำ และที่กระทบกระเทือนมากที่สุด ในสมัยที่คอมมิวนิสต์เข้ายึดครองประเทศจีน ความเป็นไปของศาสนาเต๋า สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงเป็นคอมมิวนิสต์1มีดังนี้
พ.ศ. 331 จักรพรรดิซีฮวงตี่ (Shi Huang Ti) ทรงสั่งให้เผาคัมภีร์ศาสนาขงจื๊อ แล้วยกศาสนาเต๋าขึ้นแทน และทรงส่งเรือไปยังเกาะวิเศษเพื่อค้นหาพฤกษชาติที่กินแล้วเป็นอมตะ
พ.ศ. 699 จักรพรรดิหวัน (Hwan) ได้ทรงจัดทำพิธีเซ่นไหว้เล่าจื๊อเป็นครั้งแรก
พ.ศ. 1117-1124 จักรพรรดิหวู (Wu) ได้ทรงจัดลำดับศาสนาเสียใหม่โดยให้ศาสนา ขงจื๊ออยู่ลำดับที่ 1 ศาสนาเต๋าลำดับที่ 2 และศาสนาพุทธลำดับ 3 ต่อมาทรงรังเกียจศาสนาเต๋าและศาสนาพุทธจึงทรงยกเลิกเสีย ครั้นถึงพระเจ้าติ๋ง (Tsing) จักรพรรดิองค์ถัดมากลับให้สถาปนาศาสนาเต๋าและศาสนาพุทธขึ้นอีก
พ.ศ. 1193-1227 เล่าจื๊อได้รับสถาปนาเทียบเท่าพระเจ้าจักรพรรดิ ทั้งให้ใช้ผลงานการเขียนของเล่าจื๊อ เป็นข้อสอบไล่ของทางราชการอีกด้วย
พ.ศ. 1256-1285 จักรพรรดิไกยืน (Kai Yuen) ทรงประทานคัมภีร์เต๋า เตก เกง ไปทั่วราชอาณาจักรทั้งเสวยพระโอสถที่ทางศาสนาเต๋าปรุงถวาย แสดงว่าพระองค์ทรงเพิ่มความเชื่อถือในไสยศาสตร์ของศาสนาเต๋ามากขึ้นอีก
พ.ศ. 1368-1370 จักรพรรดิเปาหลี (Pao-Li) ทรงขับไล่หมอเต๋าทั้งหมดให้ออกไปอยู่จังหวัดใต้สุด 2 จังหวัดในข้อหาว่าเจ้าเล่ห์เพทุบาย
พ.ศ. 1348-1390 จักรพรรดิหวู ซุง (Wu Tsung) ทรงสั่งให้ปิดวัดและสำนักชีทั้งหมดไม่ว่าเป็นของศาสนาเต๋าหรือศาสนาพุทธ แต่ต่อมากลับสั่งให้ศาสนาเต๋าเป็นศาสนาที่พอพระทัยของพระองค์ ทั้งเสวยพระโอสถที่ทางศาสนาเต๋าปรุงถวาย เพื่อทรงเป็นอมตะและเหาะได้คล้ายเทวดา
พ.ศ. 2204-2264 จักรพรรดิกังสี (Kang Hsi) ทรงสั่งลงโทษหมอเถื่อนพวกศาสนาเต๋า รวมถึงคนที่มารับรักษาด้วย ทั้งทรงห้ามชุมนุมและเดินขบวนของผู้นับถือศาสนาเต๋าทรงพยายามบีบคั้นศาสนาเต๋าทุกนิกาย
พ.ศ. 2443 เกิดพวกขบถมวยขึ้นในนิกายหนึ่งของศาสนาเต๋า พวกนี้เชื่อว่าร่างกายอยู่ยงคงกระพันต่อลูกปืนของต่างชาติ ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อตามคำสอนของศาสนาเต๋าที่ว่าเมื่อมาเป็นทหารก็ไม่ต้องเกรงกลัวต่อศาสตราวุธใดๆ ทั้งสิ้น
ศาสนาเต๋าเคยเจริญรุ่งเรืองในประเทศจีน มีคัมภีร์ทางศาสนา มีนักบวชที่เรียกว่าเต้าสื่อ หรือเต้ายิ้น มีศาสนสถานและพิธีกรรมเป็นของตนเอง และต่อมาราว พ.ศ. 966 จักรพรรดิจีนทรงแต่งตั้งสังฆราชและผู้สืบตำแหน่งแทนมีฐานะเป็นเทียนจื้อ หรืออาจารย์สวรรค์ ครั้นราว พ.ศ. 1559 จางเทียนจื้อได้รับพระราชทานอาณาเขตกว้างขวางในเมืองเกียงสี ถ้ำกวางขาวบนภูเขามังกร-เสือ ซึ่งเชื่อกันว่า จางเต้าหลิงได้พบยาอายุวัฒนะและสิ้นชีพเมื่ออายุ 123 ปี อยู่ในบริเวณนี้ จึงถือกันว่าสถานที่นี้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาเต๋า
ประวัติศาสดา
ผู้ที่ได้รับยกย่องให้เป็นศาสดาแห่งศาสนาเต๋า คือ เล่าจื๊อ (Lao-Tze) เพราะเป็นผู้ให้กำเนิดคัมภีร์เต้าเตกเกง และมีผลงาน คือ การออกเผยแผ่คำสอนแก้ไขปัญหาสังคม ตลอดจนมีปฏิปทาน่าเลื่อมใส มีผู้นับถือ และเอาเป็นตัวอย่างในการดำรงชีวิต
ชาติกำเนิดและปฐมวัย
เล่าจื๊อเกิดก่อน ค.ศ. 604 หรือประมาณก่อนพุทธศักราช 61 ปี (มีอายุอ่อนกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประมาณ 19 ปี) มีชีวิตระหว่าง 604-520 ก่อนคริสตศักราช เล่าจื๊อเกิดในตระกูลลี (แซ่ลี) บิดามารดาเป็นชาวนาผู้ยากจนในสมัยราชวงศ์จิว (ประมาณ 1122-255 ก่อน ค.ศ.) ณ หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ จูเหยน ในเมืองโฮนาน ภาคกลางของผืนแผ่นดินใหญ่จีน กล่าวกันว่าเกิด ณ บริเวณใต้ต้นหม่อน พอคลอดออกจากท้องแม่ทารกมีผมขาวโพลนออกมา จึงได้นามว่า เล่าจื๊อ หรือ เล่าสือ แปลว่า เด็กแก่ หรือ เฒ่าทารก แต่โดยความหมายแล้วคำว่าแก่นั้นหมายถึงแก่ความรู้ ไม่ใช้แก่เพราะอยู่นาน หรือไม่ใช่แก่เพราะกินข้าว ไม่ใช่เฒ่าเพราะ อยู่นาน นั่นก็คือว่าเมื่อว่าโดยสภาพร่างกายแล้ว เล่าจื๊อเป็นเด็ก แต่เมื่อว่าโดยระดับสติปัญญาแล้วเล่าจื๊อมีระดับสติปัญญาเยี่ยงผู้ใหญ่ ความเป็นปราชญ์มีมาตั้งแต่เป็นเด็กทารก แสดงถึงความมีอนาคตที่ยิ่งใหญ่และก้าวไกล
บางตำรากล่าวไว้ว่า นอกจากจะคลอดเป็นทารกผมขาวโพลนออกจากท้องแม่แล้ว ยังแสดงปาฏิหาริย์ คือ มือซ้ายชี้ไปบนท้องฟ้า มือขวาชี้ลงแผ่นดิน พร้อมทั้งเปล่งวาจาว่า "ในฟ้าเบื้องบน และในดินเบื้องล่างเต๋าเท่านั้นควรเป็นที่สักการะ"
บางตำรากล่าวไว้ว่า เล่าจื๊ออยู่ในครรภ์มารดาถึง 62 ปี พอคลอดจากครรภ์มารดาก็แก่ผมหงอกขาวความจริงแล้วไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นได้ น่าจะหมายความในเชิงเปรียบเทียบว่า การที่เล่าจื๊อได้ค้นพบเต๋าเป็นการเกิดใหม่ (ครั้งที่ 2) ก็ได้กล่าวคือ เล่าจื๊อได้ใช้เวลาในการพยายามค้นคว้าหาวิชาความรู้ ไม่เกี่ยวข้องกับสังคมเลย เมื่อได้หลักลัทธิแล้ว และเชื่อว่าดีแล้วก็ออกเผยแผ่ ตอนนั้นอายุของท่านได้ 62 ปี ก็เท่ากับว่าท่านได้เกิดใหม่ เหมือนกับท่านอยู่ในครรภ์มารดา 62 ปี จึงได้ค้นพบลัทธิใหม่ คือ เต๋า
เล่าจื๊อเป็นคนฉลาดมาตั้งแต่เด็ก ชอบคิดลึก ช่างไตร่ตรองเป็นนิสัยตั้งแต่เยาว์วัยได้รับการศึกษาจากธรรมชาติมากกว่าจากคน ได้รับการศึกษานอกระบบ มีหมู่คนและชีวิตเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะตัว
ชีวิตมัชฌิมวัย
เมื่อเล่าจื๊อ1โตขึ้นทางบ้านเมืองเห็นว่าเป็นคนฉลาดมีสติปัญญาดี จึงรับเข้าเป็นข้าราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหอสมุดหลวงที่นครลกเอี๋ยง อันเป็นราชธานีของกษัตริย์ราชวงศ์จิว รับผิดชอบทำจดหมายเหตุเป็นอาลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินเล่าจื๊อได้เป็นข้าราชการทำหน้าที่ให้กับกษัตริย์ราชวงศ์จิวเป็นเวลานาน ได้มีโอกาสศึกษาเหตุการณ์ ศึกษางาน ยิ่งเห็นความจริงอะไรหลายอย่างมากมาย ท่านเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้ปฏิบัติตามลัทธิเต๋า เป็นผู้มีคุณธรรมสูง เมื่อมาถึงสมัยหนึ่งซึ่งประเทศชาติประสบปัญหายุ่งเหยิงเพราะการฉ้อราษฎร์บังหลวง การเอารัดเอาเปรียบในระหว่างข้าราชการด้วยกัน ผู้นำของประเทศไม่สามารถจะแก้ไขได้ เล่าจื๊อเอือมระอาที่จะอยู่กับบุคคลที่ไร้คุณธรรม จนเกิดความท้อแท้ใจ เมื่อหมดหนทางจะแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เล่าจื๊อจึงคิดแก้ปัญหาให้แก่ตนเอง โดยการหลีกหนีสละตำแหน่งสูงในราชการเสีย ปลีกตัวออกไปจากสังคม ออกเดินทางจากแคว้นโฮนานแล้วท่องเที่ยวหนีความยุ่งยากไปทางทิศตะวันตก (ประเทศอินเดีย หรือทิเบต) ลักษณะร่างกายและอากัปกิริยาของเล่าจื๊อกล่าวกันว่าเป็นชายศีรษะล้าน หนวดเครายาว เดินทางไปที่ใดมักจะขี่ควายคู่ชีพเป็นพาหนะ
ชีวิตปัจฉิมวัย
เมื่อเล่าจื๊อเหนื่อยหน่ายสังคมและลาออกจากราชการแล้ว ได้ใช้ควายคู่ชีพเป็นพาหนะท่องเที่ยวไปสอนคนยังที่ต่างๆ วันหนึ่งได้พบกับขงจื๊อซึ่งเป็นนักปราชญ์จีนคนสำคัญอีกคน ทั้งสองได้สนทนาเชิงปุจฉาวิสัชนาธรรมแก่กัน โดยเล่าจื๊อได้แนะนำนักปราชญ์หนุ่มให้ระมัดระวังอย่าทะเยอทะยานมากนัก ดังตัวอย่างข้อความที่สนทนาโต้ตอบกันต่อไปนี้
ขงจื๊อบอกเล่าจื๊อด้วยความเคารพว่า ปรารถนาที่จะแสดงคารวะต่อท่านนักปราชญ์ทั้งผู้ใหญ่ในอดีต เล่าจื๊อตอบว่า คนที่ท่านจะแสดงคารวะเหล่านั้นไม่มีชีวิตเหลืออยู่แล้ว เหลือแต่เถ้าและกระดูก เลิกคิดเสียเถิดอย่าปรารภกระนั้นเลย
ขงจื๊อถามถึงเรื่องเต๋าว่า ศึกษามาก็มากแล้ว ไม่เคยรู้ว่าอะไรคือเต๋า เล่าจื๊อกลับตอบเป็นทำนองย้อนถามว่า ถ้าเต๋าเข้ามาอยู่ที่ตัวคนได้ ใครเล่าจะไม่ปรารถนาเต๋า ทำไมท่านจึงไม่หาเต๋ามาอยู่กับตัวเล่า
ขงจื๊อกลับไป พวกศิษย์ถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ขงจื๊อตอบว่า "นกบินอย่างไรข้าพเจ้าก็เคยรู้ ปลาว่ายน้ำอย่างไร สัตว์อื่นวิ่งอย่างไรก็รู้ และรู้ถึงว่าจะจับสัตว์นั้นได้อย่างไร สัตว์บางชนิดต้องใช้บ่วงจับ บางชนิดต้องใช้เหยื่อจับ อีกหลายชนิดต้องใช้ธนู แต่เดี๋ยวนี้มีสัตว์อีกชนิดหนึ่ง คือ มังกร ข้าพเจ้าบอกไม่ได้ว่ามันเลื้อยขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าได้อย่างไร ไม่รู้ว่ามันผ่านก้อนเมฆหรือผ่านขึ้นไปบนสวรรค์ด้วยวิธีไหน วันนี้ข้าพเจ้าได้พบกับท่านเล่าจื๊อพบแล้วก็ทำให้ปลงใจว่า ท่านเล่าจื๊อ "เป็นมังกร" ซึ่งยากที่จะเข้าใจ
เล่าจื๊อเป็นเหมือนมังกรที่น่ากลัว และเหนือกว่าที่ใครจะเข้าใจ เป็นผู้ใฝ่ฝัน แสวงหาความจริงของโลก นิยมการดำเนินชีวิตตามธรรมชาติ ใครทำผิดทำถูก เล่าจื๊อเห็นว่าธรรมชาติลงโทษและให้คุณเอง เล่าจื๊อมองเห็นโลกเป็นบ่วง เหนื่อยหน่ายโลก เล่าจื๊อบอกว่าปล่อยให้โลกเป็นไปตามทางของมัน โลกก็จะสุขสบายเอง เล่าจื๊อจึงปรากฏแก่ขงจื๊อเหมือนคนที่ฝันถึงโลกอื่น โผผินอยู่ในระหว่างก้อนเมฆแห่งความคิดฝันของตนเอง ส่วนขงจื๊อก็คงจะปรากฏแก่เล่าจื๊อเหมือนคนเจ้ากี้เจ้าการที่วุ่นวายในเรื่องราวของคนอื่น บุรุษผู้มีอิทธิพลมากที่สุดของของจีนทั้งสองนี้แตกต่างกันอย่างแท้จริงในวิธีการ ที่จะแก้ไขปัญหาโลกปัญหาสังคม ด้วยวิธีการของตนเอง พูดง่ายๆ ขงจื๊อหนักไปในทางโลก ต้องการอยู่ในโลก ส่วนเล่าจื๊อสอนหนักไปในทางธรรม ต้องการออกนอกโลก แม้จะแตกต่างกันในวิธีการและพฤติกรรม แต่ก็มีเป้าหมายตรงกัน นั้นก็คือ ความสันติสุขของปวงมนุษยชาติ โดยเฉพาะผืนแผ่นดินใหญ่จีน
เล่าจื๊อบำเพ็ญตนเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ชอบความเรียบง่าย ชอบความสงบสงัด ความไม่วุ่นวาย พอใจความถ่อมตัว มุ่งรักษาความดี และช่วยทำประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยเมตตาจิต ลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะเฉพาะตัวของเล่าจื๊อ ดังที่ปรากฏในคัมภีร์ เต้า เตก เกง ว่า
"หมู่ชนทั้งหลายเป็นผู้มีความสุข ข้าพเจ้าเป็นคนชอบสงัด ชอบอยู่แต่ลำพัง จงติเตียน ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าไม่ต้องการความสุขเช่นหมู่ชนทั้งหลาย ข้าพเจ้าเป็นคนโง่คนขลาด ข้าพเจ้าเป็นคนแตกต่างจากผู้มีความสุขทั้งหลาย ข้าพเจ้าจากคนทั้งหลายมาเพื่อแสวงหาเต๋า (สภาพอันเป็นไปตามธรรมชาติ)"
"ชาวโลกทั้งปวงกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นปราชญ์ ข้าพเจ้าหาได้เป็นดังคำกล่าวของคนทั้งหลายไม่ แต่ข้าพเจ้ามีสมบัติอันเป็นแก้ว 3 ประการในตัวข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าพยายามให้เกิดมีขึ้นในตนเสมอ และคนทั้งหลายควรดูแลและรักษาไว้ให้ดี สมบัติ 3 อย่างนั้น คือ ความเมตตากรุณา ความกระเหม็ดกระแหม่ และความอ่อนน้อมถ่อมตน"
"ถ้อยคำของข้าพเจ้าง่ายที่จะรู้ ง่ายแก่การปฏิบัติ แต่ไม่มีใครสามารถรู้และปฏิบัติได้ เพราะว่าคนทั้งหลายไม่รู้จักธรรมชาติ และไม่รู้จักข้าพเจ้าด้วย"
ลักษณะอันเป็นคุณธรรม 3 ประการ คือ ความเมตตากรุณา ความกระเหม็ดกระแหม่ และความอ่อนน้อมถ่อมตน ถือว่าเป็นแก้ว 3 ประการภายในตัวของเล่าจื๊อ
เล่าจื๊อมีอายุยืนยาว อาจจะมีอายุยืนยาวกว่า 160 ปี ก็ได้ ปราชญ์บางคนกล่าวว่ามากกว่า 200 ปี ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าเล่าจื๊อปฏิบัติเข้าถึงเต๋า ผู้เข้าถึงเต๋าจะมีอายุยืนหรือไม่ตาย หรือถ้าตายร่างกายก็จะไม่เปื่อยเน่า เล่าจื๊อได้ใช้ควายคู่ชีพเป็นพาหนะเดินทางหนีจากผืนแผ่นดินใหญ่ไปเรื่อยๆ มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตก เมื่อไปถึงพรมแดนที่ผ่านเข้าออกนายด่านผู้กำกับทางผ่านเข้าออกอยู่จำเล่าจื๊อได้ จึงได้ขอร้องเล่าจื๊อว่าก่อนจะจากไปขอให้ช่วยชี้แจงเรื่องปรัชญาแห่งชีวิตที่ได้ผ่านมา บันทึกไว้เพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง เล่าจื๊อยินยอมให้ทำบันทึกคำสอนของตนไว้ให้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องหลักเกี่ยวกับสากลโลก ธรรมชาติและชีวิต ให้ชื่อว่า "เต้า-เตก-เกง" (Tao-Teh-Ching) เป็นคำประมาณ 5,500 คำ พวกศิษย์ได้รวบรวมขึ้นเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งภายหลังกลายเป็นคัมภีร์สำคัญของศาสนาเต๋า
ตั้งแต่ขึ้นหลังควายจากไปคราวนั้นแล้ว เล่าจื๊อก็สาบสูญไปไม่ได้กลับมาให้ใครเห็นหน้าอีก
เนื่องจากชีวิตบั้นปลายของเล่าจื๊อเป็นชีวิตที่สงบสงัด แสวงหาธรรม หาความกลมกลืนกับธรรมชาติ ผู้นับถือลัทธิเล่าจื๊อในสมัยต่อมาจึงบำเพ็ญตนเป็นนักบวช อาศัยอยู่ตามภูผาป่าไม้ บำเพ็ญตนเป็นผู้เสียสละความวุ่นวายทั้งหลายในโลกเป็นเต้าสือ มีความเป็นอยู่ตามภาวะของธรรมชาติ
ชาวจีนนับถือเล่าจื๊อว่าเป็นมหาปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ได้สร้างปูชนียวัตถุเป็นอนุสรณ์สถานที่ระลึกที่บูชาขึ้น ณ หมู่บ้านจูเหยน อันเป็นถิ่นกำเนิดของเล่าจื๊อ ยิ่งนานวันคำสอนของเล่าจื๊อก็ยิ่งแพร่หลายกลายเป็นฐานใจของชาวจีน พระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งของจีนที่ขึ้นเสวยราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1193-1231 ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกายกย่องเล่าจื๊อ ขึ้นเป็นปฐมจักรพรรดิ
คัมภีร์ในศาสนา
คัมภีร์ของศาสนาเต๋า คือ คัมภีร์ เต้า เตก เกง (Tao-Teh-Ching) คำว่า "เต้า" หรือ "เต๋า" แปลว่า ทาง "เต็ก" แปลว่า บุญ ความดี หรือคุณธรรม " เก็ง" แปลว่า สูตร หรือวรรณคดีชั้นสูง รวมกันแล้วอาจแปลได้ความว่า คัมภีร์แห่งเต๋าและคุณความดี ตามประวัติกล่าวว่า เล่าจื๊อเขียนขึ้นหลังจากได้ลาออกจากตำแหน่งบรรณารักษ์แห่งหอสมุดหลวง และได้มอบให้นายด่านที่พรมแดนระหว่างประเทศจีนกับธิเบต อักษรจารึกเป็นภาษาจีน จัดเป็นหัวข้อได้ 81 ข้อ เป็นถ้อยคำ 5,500 คำ และต่อมาได้มีการแปลเป็นภาษาต่างๆ เช่น ละติน อังกฤษ ฝรั่งเศส มากเป็น ที่สองของคัมภีร์ไบเบิ้ลแห่งศาสนาคริสต์
หลักธรรมในคัมภีร์เต้าเตกเกง แสดงถึงเต๋ามีลักษณะเป็นพลังงานชนิดหนึ่งที่ทำให้ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นเคลื่อนไหว และควบคุมสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นให้เป็นไปตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังบรรจุหลักธรรมที่สอนให้คนมีคุณธรรม ไม่ควรทะเยอทะยาน ไม่โอ้อวด ไม่แข่งดีแย่งความเป็นใหญ่ ให้มีความสันโดษ เป็นต้น สรุปแล้วก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับเต๋า คุณธรรม และจริยธรรม
หลักคำสอนที่สำคัญ
สมบัติอันเป็นรัตนะ (แก้ว) 3 ประการ
สิ่งที่ท่านเล่าจื๊อสอนให้บำเพ็ญให้เกิดให้มีในทุกๆ คน เพื่อความอยู่ดีของสังคม ก็คือ รัตนะ 3 ประการ ดังที่เล่าจื๊อได้กล่าวไว้ว่า "ชาวโลกทั้งปวงกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้าหาได้เป็นดังคำกล่าวของคนทั้งหลาย แต่ข้าพเจ้ามีสมบัติอันเป็นแก้ว 3 ประการ อยู่ในตัวข้าพเจ้า ที่คนทั้งหลายควรดูแลและรักษากันไว้ให้ดีคือ
1. ความเมตตากรุณา
2. ความกระเหม็ดกระแหม่
3. ความอ่อนน้อมถ่อมตน
เพราะมีความเมตตากรุณา บุคคลก็ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งนั้น
เพราะมีความกระเหม็ดกระแหม่ บุคคลก็ร่ำรวยได้
เพราะมีความอ่อนน้อมถ่อมตน บุคคลก็สามารถมีสติปัญญาเจริญเต็มที่ได้
ถ้าละทิ้งเมตตากรุณา รักษาไว้แต่ความกล้าหาญ
ถ้าละทิ้งความสำรวม รักษาไว้แต่อำนาจ
ถ้าละทิ้งการตามหลัง แต่ชอบรุดออกหน้าเขาก็ตาย"
ชีวิตจะดีได้ต้องกลมกลืนกับธรรมชาติ
เล่าจื๊อสอนให้คนเราดำเนินชีวิตให้กลมกลืนกับธรรมชาติให้มากที่สุด คนจะทำดีและทำชั่วไม่ต้องมีกฎหมายบังคับ แต่ปล่อยให้ธรรมชาติให้คุณและลงโทษเอง ให้เอาธรรมะเข้าสู้อธรรม เอาความสัตย์เข้าสู้อสัตย์ เอาความดีเข้าสู่ความชั่ว ดังที่ว่า
"คนที่ดีต่อเรา เราก็ดีต่อ
คนที่ไม่ดีต่อเรา เราก็ดีต่อด้วย
เพราะฉะนั้นทุกคน จึงควรเป็นคนดี
คนที่ซื่อสัตย์ต่อเรา เราก็ซื่อสัตย์ต่อด้วย
คนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อเรา เราก็ซื่อสัตย์ต่อด้วย
เพราะฉะนั้น ทุกคน จึงควรเป็นคนซื่อสัตย์"
หรือสอนให้เอาความอ่อนโยนสู้ความแข็งกร้าว (Gentles overcome strengths) ดังที่ว่า
"เมื่อคนเราเกิดนั้น เขาอ่อนและไม่แข็งแรง
แต่เมื่อตาย เขาแข็งและกระด้าง
เมื่อสัตว์และพืชยังมีชีวิต ก็อ่อนและดัดได้
แต่เมื่อตาย ก็เปราะและแห้ง
เพราะฉะนั้น ความแข็งและความกระด้าง จึงเป็นพวกพ้องของความตาย
ความอ่อนและความสุภาพ จึงเป็นพวกพ้องของความเป็น
ด้วยเหตุนี้ เมื่อกองทัพแข็งกร้าว จึงแพ้ในสงคราม
เมื่อต้นไม้แข็ง จึงถูกโค่นลง"
"สิ่งที่ใหญ่และแข็งแรง จะอยู่ข้างล่าง
สิ่งที่สุภาพและอ่อนโยน จะอยู่ข้างบน..."
ลักษณะคนดีและชีวิตที่มีสุขสูงสุด
เล่าจื๊อสอนไว้ว่า "คนดีที่สุดมีลักษณะเหมือนน้ำ น้ำทำประโยชน์ให้แก่ทุกสิ่ง และไม่พยายามแก่งแย่งแข่งดีกับสิ่งใดๆ เลย น้ำขังอยู่ในที่ต่ำที่สุด ซึ่งเป็นที่ใกล้เต๋า..." (สิ่งทั้งหลายเจริญเติบโตขึ้นมาด้วยน้ำ แต่น้ำไม่พยายามจะเลื่อนตัวเองให้ไปอยู่ระดับสูง น้ำกลับพอใจอยู่ในที่ต่ำที่ทุกสิ่งทุกอย่างพยายามหลีกเลี่ยง นี่แหละคือลักษณะหรือธรรมชาติของ "เต๋า" )
ชีวิตที่เป็นไปง่ายๆ ไม่มีการแก่งแย่งแข่งเด่น แข่งดี ปล่อยให้เป็นไปตามวิวัฒนาการของธรรมชาติไม่มีการดิ้นรนเพื่อแสวงหาตำแหน่งหน้าที่ ให้เกิดอำนาจแก่ตน ทำประโยชน์ให้ ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนคือ ชีวิตที่มีสุขสูงสุด ตามทรรศนะของเล่าจื๊อ
ความบริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ 3 ประการ
สิ่งที่เล่าจื๊อสอนให้บุคคลเห็นและต้องถือเป็นหลักสำคัญของศาสนาเต๋า นั่นก็คือ ความบริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ 3 ประการ ได้แก่
1. สาระหรือรากฐานเดิม (ซิง) ข้อนี้มุ่งถึงสวรรค์ เรียกว่า วู-ซิง เทียนชุน หรือเทียน-เปาชุน โดยบุคลาธิษฐานเป็นมหาเทพสถิตอยู่ในอาณาจักรแห่งความบริสุทธิ์ มี พระวรกายเป็นหยก ทรงเปล่งรัศมีดุจแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ให้คนเห็นความจริงในโลก
2. พลัง (จิ) คือ พลังแห่งสติปัญญาความสามารถ เรียกว่า วูซี-เทียนชุน หรือ หลิงเปาชุน โดยบุคลาธิษฐานเป็นมหาเทพ สถิตอยู่ในอาณาจักรแห่งความบริสุทธิ์ ทรงแบ่งเวลาออกเป็นวัน คืน ฤดู ทรงเป็นเจ้าแห่งธรรมชาติคู่แห่งโลก คือ หยางและหยิน (ในโลกนี้ล้วนมีคู่ เช่น มืด สว่าง, พระอาทิตย์ พระจันทร์, หญิง ชาย เป็นต้น)
3. วิญญาณ เรียกว่า ฟานซิง-เทียนชุน หรือเชนเปาชุน โดยบุคลาธิษฐานเป็นจอมแห่งวิญญาณทั้งหลาย สถิตอยู่ในอาณาจักรอันเป็นอมตะของอมรทั้งปวง และเป็นผู้ทรงความบริสุทธิ์ยิ่ง เป็นมหาเทพเท่ากับตัวเล่าจื๊อผู้เป็นวิญญาณบริสุทธิ์อวตารลงมาสั่งสอนมนุษย์ ถ้าจะเปรียบก็เท่ากับปรมาตมันหรือพระพรหมในศาสนาพราหมณ์
ปรัชญาในการดำเนินชีวิต มี 4 ประการ ชีวิตจะดีได้ จะต้องดำเนินในทางดังนี้
1. จื้อไจ คือ รู้จักตัวของตัวเองให้ถูกต้อง
2. จื้อเซง คือ ชนะตัวเองให้ได้
3. จื้อจก คือ มีความรู้จักพอด้วยตนเอง
4. จี่อีเต๋า คือ มีเต๋าเป็นอุดมคติ
หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุด
ปรัชญาเต๋า เชื่อว่าเต๋าเป็นธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นพลังแห่งความดีงามสูงสุดทุกอย่าง เพราะฉะนั้นแต่ละคนควรมุ่งเข้าถึงเต๋า และใครที่สามารถเข้าถึงเต๋าก็จะเป็นอมตบุคคลอมตบุคคลอาจเรียกได้หลายอย่าง เช่น สัตยบุคคลบ้าง ฤาษีบ้าง เทพเจ้าบ้าง ผู้วิเศษบ้างอมตบุคคลมี 2 แบบ คืออมตบุคคลป่า และอมตบุคคลบ้าน คือ ฤาษีที่หลีกหนีจากสังคมอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร หาความวิเวกมีเต๋าเป็นจุดหมาย จวงจื๊อได้กล่าวถึงฤาษีประเภทนี้ไว้ว่า
ณ ภูเขาโกเซียซัวอันไกลลิบมีมนุษย์ทิพย์อยู่คนหนึ่งมีผิวขาวบริสุทธิ์ดุจหิมะ กิริยามารยาทอ่อนโยนสงบเสงี่ยมดุจดรุณีสาว มีลมและน้ำค้างเป็นอาหาร ใช้ปุยเมฆบ้าง มังกรบ้าง เป็นพาหนะเที่ยวไปทั่วมหาสมุทรทั้ง 4 และเนื่องจากมีสมาธิแก่กล้าจึงสามารถบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ในที่ที่ท่านผ่านไป... อันตรายทั้งหลายไม่สามารถกล้ำกลายทำร้ายท่านได้ แม้น้ำท่วมโลกก็ไม่อาจท่วมท่าน ไฟที่ร้อนแรงที่สุดสามารถเผาก้อนหินหรือเหล็กให้ละลายได้ก็ไม่อาจทำอันตรายท่านได้ หรืออากาศจะเย็นเป็นหิมะทำลายสิ่งทั้งหลาย ก็ไม่อาจทำให้ท่านหนาวตาย... สรุปแล้วไม่มีอะไรสามารถทำให้ท่านเดือดร้อนหวาดหวั่นพรั่นพรึงได้ ส่วนฤาษีบ้านยังตั้งอาศรมอยู่ใกล้เมืองยังเกี่ยวข้องกับสังคม แต่ก็ไม่ถูกอารมณ์โลกครอบงำ เพราะรู้แจ้งแทงตลอดในเต๋า จึงไม่หวั่นไหวในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ สัตยบุคคลเวลาหลับก็ไม่ฝันเวลาตื่นก็ไม่วิตกกังวล ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ยินดีในการเกิดไม่ยินร้ายต่อการตาย เห็นความเกิดและความตายเป็นเรื่องธรรมดา
ส่วนความเชื่อของศาสนาเต๋า แบบเต๋า เจียว ก็เป็นไปในทางอภินิหารและความลี้ลับ อย่างเช่นจาง เต๋า หลิง ผู้นำศาสนาเต๋าในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ก็ได้ไปตั้งสำนักที่ภูเขา โฮ หมิง ซาน มณฑลเสฉวน กล่าวกันว่า จาง เต๋า หลิง ได้พบกับเล่าจื๊อซึ่งกลายเป็นอมตะที่นั่น เล่าจื๊อได้สอน จาง เต๋า หลิงว่า มีภูตผีปีศาจร้ายมากมายอยู่ทั่วไป คอยนำโรคและความตายตลอดทั้งความหายนะต่างๆ มาให้มนุษย์ ดังนั้นมนุษย์จึงควรรู้วิธีที่จะเอาชนะวิญญาณร้ายเหล่านั้น เพื่อจะได้มีชีวิตยืนยาว ไม่เจ็บป่วยและถ้าเก่งกล้าคาถาอาคมมากก็อาจนำภูตผีปีศาจร้ายมาใช้งาน เช่น ให้ออกรบแทนทหารได้ นอกจากนี้เล่าจื๊อยังได้มอบดาบกายสิทธิ์ 2 เล่มให้จาง เต๋า หลิง ด้วย
สำหรับจุดมุ่งหมายสูงสุดของทั้ง 2 นิกายก็เพื่อเข้าถึงเต๋าเหมือนกันจะต่างก็แต่แบบ เต๋า เจีย มุ่งเข้าถึง เต๋า จิตจะมีแต่ความสงบสุขเพราะรู้เท่าทันความจริง ส่วนแบบเต๋า เจียวมุ่งเข้าหาเต๋า เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ทำเสน่ห์เล่ห์กล ดูโชคชะตา รักษาโรค คงกะพันชาตรี และเหาะเหินเดินอากาศ เป็นต้น
สถานที่ทำพิธีกรรม
วัดหรือสถานที่ทำพิธีกรรมของลัทธิเต๋ามีลักษณะเหมือนศาลเจ้าของจีนโดยทั่วๆ ไปเพียงแต่การตบแต่งภายในที่จะตั้งแท่นที่บูชานั้น ออกจะพิถีพิถันและมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์มากมาย แม้ในไต้หวันซึ่งเป็นแหล่งที่มีผู้นับถือลัทธิเต๋ามากก็ยังมีการปฏิบัติในเรื่องนี้ต่างกันออกไป ระหว่างไต้หวันที่อยู่ตอนเหนือและตอนใต้ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อในเรื่องเทพเจ้า และไสยศาสตร์ และความต้องการที่จะทำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้เคารพบูชา
อย่างไรก็ตามโดยทั่วๆ ไปแล้ว ภายในศาลเจ้านิยมติดภาพเขียนของเหล่าเทพเจ้าและปรมาจารย์คนสำคัญของลัทธิเต๋า แต่จะติดตั้งในทิศทางตำแหน่งใดนั้น แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ภาพปรมาจารย์ที่สำคัญของเต๋ามีดังนี้คือ
1. ภาพของจางเต๋าหลิงในท่าขี่เสือ ซึ่งเป็นตอนหนึ่งของความเชื่อที่เล่าสืบกันมาว่าท่านเคยขี่เสือทะยานขึ้นสู่สวรรค์ และกลับลงมาพร้อมกับพลังอำนาจแห่งสววรค์ที่ได้รับจากเทพเจ้า
2. ภาพของเล่าจื๊อในชุดสีเหลือง ท่านเป็นปรมาจารย์คนสำคัญที่เปิดเผยคำสอนอันเร้นลับให้แก่ จางเต๋าหลิง
3. ภาพของเหวินเจียน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของนักรบเต๋าผู้ปกป้องศาลเจ้าทางด้านตะวันออก
4. ภาพของจูยีในชุดสีแดง สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์และหัวใจ แสงแห่งดวงอาทิตย์จะช่วยขับไล่ความมืดและความชั่วร้าย ส่วนหัวใจจะช่วยเปิดทางให้เราได้ติดต่อกับเต๋า ภาพของจูยีนิยมติดไว้ใกล้ๆ กับภาพของเต๋าหลิง ในมือของจูยีจะถือเอกสารสีเหลืองซึ่งเชื่อกันว่า เป็นคำสั่งเปิดสวรรค์
5. ภาพของพระจักรพรรดิในชุดนักรบ นิยมเรียกกันว่า พระจักรพรรดิแห่งทิศเหนือ ภาพของพระองค์จะแขวนไว้ตรงข้ามกับภาพของจางเต๋าหลิง
นอกจากนี้ยังมีการตั้งโต๊ะพิธีภายในศาลเจ้าสำหรับเป็นที่วางของเซ่นไหว้ตามทิศทางต่างๆ ภายในศาลจะมีของเซ่นไหว้เฉพาะทิศนั้นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทพเจ้าองค์ใดสถิตในที่ใด และถ้ามีการจัดพิธีกรรมใหญ่มากเท่าใด การตั้งโต๊ะก็จะเพิ่มมากขึ้นจนบางครั้งอาจจะเลยมาภายนอกศาลเจ้าได้
สำหรับพระผู้ทำพิธีกรรมของลัทธิเต๋านั้นมี 2 พวก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนิกาย ถ้าเป็นพวกชวนเชนเจียว นักบวชในนิกายนี้ส่วนมากนิยมสละโสด ปฏิบัติเคร่งครัดมาก มีการทำสมาธิ และดำเนินชีวิตแบบสมถะคล้ายกับนักบวชในพุทธศาสนา ไม่ใคร่มีพิธีกรรมที่พิถีพิถัน ส่วนพวกนิกายเช็งอิ นักบวชสามารถมีครอบครัวได้ และมีหน้าที่ทำพิธีกรรมปัดเป่าความชั่วร้าย และเสริมสิริมงคลให้แก่ผู้ทุกข์ร้อน เมื่อทำพิธีกรรมสำคัญ พระเหล่านี้จะมีชุดเสื้อผ้าสำหรับทำพิธีกรรมโดยเฉพาะ และชุดเหล่านี้มีความงดงามวิจิตรพิสดารมาก
ชุดที่ใช้ทำพิธีกรรมมีทั้งหมด 3 ชุด และแต่ละชุดนั้นใช้ในวาระต่างกัน ชุดเหล่านี้ได้แก่ เจียงอิ เต๋าเป้า และไหชิง
เต๋าเป้า เป็นชุดที่ใช้บ่อยมากและเกือบจะทุกพิธีกรรม มีสีแดง ปักลวดลายหยินหยาง และถ้าเป็นเต๋าเป้าของหัวหน้าผู้ทำพิธีกรรมจะมีสีส้มเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างผู้ช่วยทำพิธีกรรมและหัวหน้าพระผู้ทำพิธีกรรม ลวดลายชุดเต๋าเป้าของหัวหน้าพระจะละเอียดพิสดารปักทั้งผืน แทบไม่มีที่ว่าง
เจียงอิ เป็นชุดที่ใช้ในพิธีกรรมที่เป็นทางการและเป็นพิธีกรรมที่ค่อนข้างสำคัญ หัวหน้าพระใส่ชุดนี้เพื่อแสดงตนว่าเป็นคนของสวรรค์ เนื้อผ้าเป็นผ้าไหมสีแดง มีการปักลวดลายที่ละเอียดมากแสดงถึงสวรรค์และจักรวาล ถ้าหัวหน้าพระใส่ชุดนี้ ผู้ช่วยจะต้องใส่ชุดเต๋าเป้า และถ้าหัวหน้าพระใส่ชุดเต๋าเป้า พวกผู้ช่วยจะต้องใส่ชุดไหชิง
ไหชิง ถ้าเป็นไต้หวันทางใต้มีทั้งสีดำและสีส้ม เป็นชุดที่ใส่ในพิธีกรรมพื้นๆ ทั่วๆ ไป เช่นเวลาสวดมนต์และพิธีกรรมที่ไม่เป็นทางการ
พิธีกรรมที่สำคัญ
1. พิธีบริโภคอาหารเจ ศาสนิกชนเต๋าในสมัยต่อมาได้มีลักษณะผิดเพี้ยนไปจากหลักการในคัมภีร์เต้าเตกเกง คือมีทั้งเชื่อถือในเรื่องไสยศาสตร์ทั้งในทางที่ปรับให้มีความประพฤติปฏิบัติชอบโดยนำเอาศีล 5 ทางพุทธศาสนาไปเป็นแนวปฏิบัติ และมีการบริโภคอาหารแบบมังสวิรัติคือไม่บริโภคเนื้อสัตว์ จัดให้มีเทศกาลของการบริโภคอาหารเจประจำปีขึ้น ผู้ที่ถือเคร่งครัดอาจปฏิญาณตนที่จะบริโภคอาหารเจเป็นประจำตลอดชีพ ผู้ที่ค่อนข้างเคร่งครัดจะเว้นอาหารเนื้อสัตว์ในวัน 1 ค่ำ และวัน 15 ค่ำ ของเดือนทางจันทรคติของจีน แต่คนสามัญธรรมดาทั่วไป จะถือบริโภคอาหารเจปีละ 1 ครั้ง เป็นเทศกาลกินเจ คือ ตั้งแต่วัน 1 ค่ำ เดือน 9 ติดต่อกันไปเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งตกราวๆ เดือน 11 ของไทย และในการกินเจตามเทศกาลนี้ ผู้จะกินเจต้องล้างท้องก่อนถึงกำหนด 3 วัน และบางคนอาจกินเจปิดท้ายอีก 1-3 วัน
2. พิธีปราบผีปีศาจ ศาสนิกชนเต๋าเชื่อว่าภูตผีปีศาจร้ายต่างๆ นั้น สามารถที่จะขับไล่และป้องกันได้ถ้ารู้จักวิธี เช่น ถ้าเดินป่าก็ต้องร้องเพลงหรือผิวปากให้เป็นเสียงเพลง ผีเจ้าป่าไม่ชอบเสียงเพลง เมื่อได้ยินเสียงเพลงก็จะหนีให้ห่างไกลเหมือนยุงกลัวควันไฟหรือถ้ากลัวว่าผีจะเดินตามเข้าไปในบ้านด้วย พอเดินมาถึงประตูบ้านก็ต้องหยุดยืนหมุนตัวสัก 2-3 รอบก่อนแล้วค่อยเข้าบ้าน เพราะถ้ามีผีตามมาจะทำให้มันหน้ามืดตาลาย ถึงกับวิ่งชนกำแพงหรือรั้วบ้านก็ได้ หรือจะวาดรูปป่าไม้น้อยใหญ่ไว้ที่ประตูบ้าน เมื่อภูตผีมารร้ายต่างๆ มาเห็นเข้าก็จะเข้าใจว่าเป็นป่าใหญ่ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกมันมากกว่าที่จะเป็นช่องห้องหอของใครๆ แล้วก็จะไม่ทำร้ายแก่ผู้ใด เป็นต้น
3. พิธีกรรมไล่ผีร้าย พวกเต๋าเชื่อว่ามีภูตผีปีศาจร้ายมากมายคอยหลอกหลอนทำร้ายผู้คน เช่น ปรากฏร่างน่าเกลียดน่ากลัว หรือทำเสียงแปลกๆ เป็นต้น ทำให้คนถูกหลอกเจ็บป่วยได้ จึงเกิดกรรมวิธีไล่ผีร้ายขึ้นมา โดยมีพระเต๋าเป็นผู้ประกอบพิธี พระเต๋าแต่ละรูปที่มาประกอบพิธีจะสวมหมวกติดดาว 7 ดวง และผ้ายันต์ เมื่อเริ่มพิธี พระเต๋า 5 รูป จะถือธง 5 ธง คือธงสีเขียว สีแดง สีเหลือง สีขาว และสีดำ โดยแต่ละรูปจะยืนอยู่แต่ละทิศ คือทิศตะวันออก ตะวันตก กลางและทิศเหนือ ในพิธีจะแขวนรูปเทพเจ้าของศาสนาเต๋าไว้ จุดธูปและนำน้ำมาทำน้ำมนต์ พระเต๋าจะบรรเลงเครื่องดนตรี พระเต๋าองค์หนึ่งถือดาบและน้ำ อีกรูปหนึ่งจะถือธงมีดาว 7 ดวง และอีกองค์หนึ่งจะถือแส้คอยขับไล่พวกผีปีศาจร้าย พระเต๋าทั้งหมดยังจะต้องช่วยกันสวดอัญเชิญเทวดาต่างๆ ให้มาช่วยจับผีร้ายให้หมดไปด้วย
4. พิธีส่งวิญญาณผู้ตาย คนจีนให้ความสำคัญต่อบรรพบุรุษมาก ถือเรื่องสายโลหิตเป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อมีญาติตายจะต้องประกอบพิธีกรรมเพื่อช่วยให้วิญญาณคนตายไปสู่สุคติ อยู่อย่างเป็นสุข ไม่ถูกผีปีศาจร้ายรบกวน การประกอบพิธีก็ลดหลั่นกันไปตามฐานะผู้ตายและเจ้าภาพ อย่างเช่น คนชั้นสูงตาย และเจ้าภาพเป็นผู้มีฐานะดีก็อาจนิมนต์พระเต๋ามาประกอบพิธีถึง 49 รูป และประกอบพิธีนานถึง 49 วัน แต่ถ้าคนชั้นกลางตาย ก็อาจนิมนต์พระเต๋าอย่างน้อย 1 รูป มาประกอบพิธีตั้งแต่ 1-3 วันตามแต่ฐานะการเงินของเจ้าภาพพระเต๋าจะบรรเลงดนตรีและร่ายมนตร์ ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยให้คนตายพ้นจากถูกลงโทษในโลกวิญญาณ ในการทำพิธี พระเต๋าจะใช้สีแดงสดเขียนชื่อ วันเกิด วันตายและที่อยู่ของผู้ตายลงบนกระดาษสีเหลือง 2 แผ่น และประทับตราประจำวัดลงบนกระดาษ ถือกันว่ากระดาษแผ่นนั้น จะเป็นเสมือนใบรับรองผู้ตาย กระดาษแผ่น 1 จะใส่ไว้ในโลง อีกแผ่นหนึ่งจะถูกเผา เชื่อกันว่าถ้าทำดังกล่าวจะช่วยให้วิญญาณผู้ตายไปถึงเทพเจ้าโดยตรง ไม่ต้องถูกวิญญาณท้องถิ่นคอยหน่วงเหนี่ยว และขณะที่หามโลงไปเผา ก็จะมีพระเต๋าเดินนำหน้า คอยสั่นกระดิ่ง บรรเลงดนตรี และสวดมนต์ในขณะเดียวกันด้วย
5. พิธีกราบไหว้บูชาวิญญาณของบรรพบุรุษ ชาวจีน ไม่เฉพาะศาสนิกชนเต๋าเท่านั้น นิยมกราบไหว้บูชาวิญญาณของบรรพบุรุษอย่างลึกซึ้ง พวกเขามีความเชื่ออย่างมั่นคงว่าสิ่งทั้งหลายได้มีวิญญาณสิงสถิตอยู่ทั้งหมด และเชื่อว่าถ้าลูกหลานมีความกตัญญูกราบไหว้วิญญาณบรรพบุรุษแล้ว วิญญาณเหล่านั้นจะต้องดูแลคุ้มครองลูกๆ หลานๆ ผู้ยังมีชีวิตอยู่ให้มีความเป็นอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข พิธีปฏิบัติก็คล้ายๆ กับที่ชาวจีนเมืองไทยประพฤติปฏิบัติกันในแต่ละปี คือ จะพากันไปทำความสะอาดและตกแต่งฮวงซุ้ย จุดธูป เซ่นสังเวยดวงวิญญาณด้วยเหล้า และอาหาร อีกทั้งเผากระดาษเงินกระดาษทองส่งไปให้ผู้ตายด้วย
นิกายในศาสนา
ศาสนาเต๋ามีอยู่หลายนิกาย มีนิกายใหญ่อยู่ 2 นิกาย คือ นิกายเช็ง-อิ และนิกาย ชวน-เช่น นิกาย เช็ง-อิ เป็นนิกายฝ่ายใต้ เพราะเจริญอยู่แถบทางใต้ของแม่น้ำแยงซี นิกายนี้มุ่งไปในทางอิทธิฤทธิ์ของอาจารย์สวรรค์ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า นิกายเทียนจื๊อ เชื่อกันว่า จาง เต๋า หลิง เป็นอาจารย์สวรรค์คนแรก มีดาบศักดิ์สิทธิ์สามารถฆ่าปีศาจ แม้อยู่ไกลถึง 1,000 ไมล์ได้ นิกายนี้เชื่อเรื่องโชคลางอภินิหารและคาถาอาคม จึงมีคาถาอาคมมากมาย เช่น คาถาขอฝน คาถากันฝน คาถากันผี เป็นต้น นอกจากนี้ยังถือการเข้าทรงเป็นสำคัญอีกด้วย นักบวชของนิกายนี้มีความเป็นอยู่แบบชาวบ้านทั่วไป และมีครอบครัวได้
ส่วนนิกายชวน-เชน เป็นนิกายฝ่ายเหนือ เพราะเจริญอยู่แถบทางเหนือแม่น้ำแยงซี เป็นนิกายที่มุ่งดำเนินตามคำสอนเต๋า จึงมีปฏิปทาดำเนินชีวิตให้กลมกลืนกับธรรมชาติ รักสงบ เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ศาสนิกจำนวนไม่น้อยจะสละบ้านออกไปอยู่วัด รับประทานอาหารมังสวิรัติ ทั้งจะอดอาหารในบางโอกาส ส่วนนักพรตจะแต่งงานไม่ได้ ดื่มน้ำเมาไม่ได้ นิกายนี้มีความโน้มเอียงที่จะรวมทั้ง 3 ศาสนา คือศาสนาเต๋า ศาสนาขงจื้อ และศาสนาพุทธเข้าเป็นอันเดียวกัน
สัญลักษณ์ของศาสนา
สัญลักษณ์โดยตรงของศาสนาเต๋าก็คือ รูปเล่าจื๊อขี่ควาย อันหมายถึง การเดินทางไปยังที่ต่างๆ ของเล่าจื้อมักจะใช้ควายเป็นพาหนะ แม้กระทั่งการเดินทางครั้งสุดท้ายไปยังพรมแดนของจีนต่อกับทิเบตทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ก็ใช้ควายเป็นพาหนะ และก็หายไปทั้งเล่าจื้อและควายคู่ชีพ สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งก็คือรูปหยางและหยิน มีลักษณะเป็นวงกลมแบ่งเป็น 2 ส่วนเท่ากันด้วยเส้นเว้น แสดงถึงธรรมชาติคู่ของโลก อันหมายถึง พลัง (จิ) อันเป็นพลังแห่งสติปัญญาความสามารถ โดยบุคลาธิษฐานเป็นจอมเทพสถิตอยู่ในอาณาจักรแห่งความบริสุทธิ์ ทรงแบ่งธรรมชาติออกเป็นคู่ๆ เช่น มืดกับสว่าง กลางวันกับกลางคืน หญิงกับชาย เป็นต้น
ฐานะของศาสนาในปัจจุบัน

ศาสนาเต๋าเคยเจริญรุ่งเรืองในประเทศจีน1 แต่ต่อมาได้รับความกระทบกระเทือนมาก เมื่อคอมมิวนิสต์เข้ายึดครองประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. 2492 พรรคคอมมิวนิสต์จีนถือว่าทุกศาสนาเป็นยาเสพติด ศาสนาต่างๆ ถูกมองในแง่ร้าย เช่น ศาสนาขงจื้อ เป็นตัวแทนการปกครองแบบเจ้าขุนมูลนาย ศาสนาเต๋าก็งมงายเชื่อถือในโชคลาง ศาสนาพุทธก็มาจากต่างประเทศยังเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าดีจริงหรือไม่ ศาสนาคริสต์ก็เป็นศาสนาต่างด้าว ทั้งเป็นตัวแทนจักรวรรดินิยมตะวันตก ศาสนาอิสลามนอกจากจะเป็นศาสนาต่างด้าวแล้ว ยังไม่เหมาะกับการปกครองในประเทศจีน ทุกศาสนาจึงควรที่จะถูกกวาดล้างออกไป เพื่อจะได้ไม่ขัดขวางต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้นทุกศาสนาถึงถูกเบียดเบียนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2509 เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม สถานการณ์ของทุกศาสนายิ่งทรุดหนัก เพราะถูกถือว่าเป็นความคิดเก่าคร่ำครึใช้ไม่ได้ ไม่เหมาะกับสมัยปัจจุบันจึงควรที่จะถูกกำจัดให้หมดไป ดังนั้นวัดโบสถ์วิหารและศาสนสถานของศาสนาต่างๆ จึงถูกทำลาย ศาสนิกถูกจับ ถูกทำร้ายจนศาสนิกของศาสนาต่างๆ ไม่กล้าแสดงตัวว่านับถือศาสนา และนั่นเอง ชาวเต๋าบางส่วนก็ได้หนีไปอยู่ที่ประเทศจีน คณะชาติเกาะไต้หวันอย่างเช่นจังอีร์ปู ผู้หนีไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน ได้รับแต่งตั้งเป็นเทียนจื้อหรืออาจารย์สวรรค์ เป็นสังฆราชของศาสนาเต๋า ท่านผู้นี้ยังได้รับความเคารพและเกรงกลัวว่าเป็นผู้ปกครองภูตผีปีศาจและสัตว์ประหลาด
ปัจจุบันศาสนาเต๋ายังมีผู้นับถืออยู่ มีนักบวชชายหญิง มีศาลเจ้า มีสมาคมในหมู่ชาวจีน มีโรงเจสำหรับคนบริโภคอาหารมังสวิรัติอยู่ทั่วไป แต่การนับถือศาสนาเต๋าได้เสื่อมลงเพราะ ผิดไปจากหลักการเดิมในคัมภีร์ เต้า เตก เกง คือมากไปในทางทรงเจ้า บูชาเจ้า พระเต๋ามีหน้าที่สวดมนต์ให้พร รดน้ำมนต์ ขายเครื่องรางของขลัง ทำพิธีขับผีและทำเสน่ห์เล่ห์กล เป็นต้น บางแห่งก็นำศีล 5 ทางพุทธศาสนาไปปฏิบัติ และนำพระสูตรทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานไปสวดด้วย กลายเป็นเต๋าผสมพุทธ ชาวเต๋าส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องศาสนาเต๋า ไม่ได้ศึกษาคัมภีร์เต้า เตก เกง ได้แต่ปฏิบัติตามประเพณีที่ทำตามกันมาเท่านั้น
แต่ต่อไปสถานการณ์ของศาสนาบนแผ่นดินใหญ่คงดีขึ้นในอนาคต เพราะหลังจากเมาเซตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์เสียชีวิต ในปี พ.ศ. 2520 รัฐบาลจีนได้หันไปติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น จึงได้ผ่อนคลายการกดขี่ศาสนาลง ให้พลเมืองมีเสรีภาพในการนับถือศาสนามากขึ้น เช่น อนุญาตให้พระและสามเณรกลับไปอยู่วัดได้ ให้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ และ พ.ศ.2522 มหาวิทยาลัยนานกิงได้เป็นศูนย์กลางศึกษาศาสนาต่างๆ ในประเทศจีน
ปัจจุบันการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ กำลังล่มสลายในหลายประเทศ แม้ในประเทศจีนเองอิทธิพลของการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ก็ลดลงตามลำดับ ทำให้พลเมืองมีเสรีภาพมากขึ้นในการนับถือศาสนา ผู้ที่นับถือศาสนาเต๋าอยู่แล้วก็กล้าที่จะแสดงตัว ทั้งนี้ เป็นความจริงที่ว่า ความเชื่อของคนไม่อาจล้มล้างด้วยกำลังได้ การเปลี่ยนความเชื่ออย่างหนึ่งจะต้องใช้ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งซึ่งดีกว่ามาทดแทนเท่านั้น มิใช้ด้วยกำลัง
ศาสนิกศาสนาเต๋า ในปัจจุบันมีประมาณ 183 ล้านคน (Encyclopaedia Britannica 1992 : 269) กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ที่ชาวจีนอาศัยอยู่มาก เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน

ที่มา:http://main.dou.us/view_content.php?s_id=167